วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550

ธุรกิจรีไซเคิล... แบบไหนที่ประเทศไทยต้องการ

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 สิงหาคม พ.. 2550 นำเสนอเรื่องราวปัญหาจากโรงงานหลอมตะกั่วจากแบตเตอรี่เก่า ที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่ปล่อยทั้งน้ำเสียและอากาศเสียออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนใกล้เคียง ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและชาวบ้านเจ็บป่วย และแม้มีการร้องเรียนหน่วยงานรับผิดชอบหลายครั้งก็มิอาจหยุดยั้งปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ข่าวข้างต้นสะท้อนสถานการณ์อีกด้านหนึ่งของธุรกิจรีไซเคิลที่ต้องการการเอาใจใส่ และคิดคำนึงถึงอย่างจริงจังเสียแต่เดี๋ยวนี้ ทั้งนี้เนื่องจากกระแสผลักดันให้เกิดธุรกิจรีไซเคิลมีอยู่ชัดเจน ทั้งจากความจำเป็นในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและการจัดการกับของเสียที่เกิดขึ้นภายในประเทศ แต่ด้วยเหตุผลในด้านการลงทุนที่ต้องแสวงหากำไรจึงมีแนวคิดเคลื่อนย้ายของเสียไปจัดการรีไซเคิลในในประเทศที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนคุ้มค่า กล่าวคือมีต้นทุนการดำเนินการต่ำ เช่น ที่ดินราคาถูก แรงงานราคาถูก การกำกับดูแลด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพแรงงาน ไม่เข้มแข็งมากนัก เป็นต้น

ประเทศไทยก็เป็นแหล่งหนึ่งที่เข้าเกณฑ์ข้างต้นและเป็นที่หมายตาของนักลงทุนจำนวนไม่น้อย และยิ่งเพิ่มความน่าลงทุนมากขึ้นเมื่อผนวกกับแรงสนับสนุนจากข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ ที่ประเทศไทยทำไว้ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งโดยสาระคือการไม่เก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าที่ทำการตกลงร่วมกันไว้ สินค้าบางประเภทอาจไม่เก็บภาษีทันทีหลังความตกลงมีผลใช้บังคับ บางประเภทอาจลดภาษีลงเรื่อย ๆ จนเป็นศูนย์ตามกำหนดเวลา ในบรรดาสินค้าที่ตกลงกันมีรายการของเสียและวัสดุที่ใช้แล้วรวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ในกรณีญี่ปุ่นต้องพิจารณาร่วมกับภาวะความจำเป็นภายในประเทศญี่ปุ่น ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลิตภัณฑ์จำนวนมากกลายสภาพเป็นของไม่ใช้แล้วในเวลาอันรวดเร็วและส่งผลต่อเนื่องถึงการจัดการของใช้แล้วเหล่านี้ในประเทศ ซึ่งถูกจำกัดด้วยเรื่องของพื้นที่ (ญี่ปุ่นเป็นเกาะ) และกฎข้อบังคับที่เข้มงวด ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่ต้องลงหากจะทำโรงงานรีไซเคิลที่ญี่ปุ่นนั้นสูงมากกว่าผลที่จะได้รับจากการขายวัสดุที่รีไซเคิลได้ ทำให้โอกาสที่ญี่ปุ่นจะจัดการสินค้าใช้แล้วในประเทศตนเองอย่างเบ็ดเสร็จแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการส่งออกวัสดุใช้แล้วโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าที่ประเทศปลายทางจึงลดต้นทุนได้มาก

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเพิ่มช่องทางแก้ปัญหาของตนเองโดยได้นำเสนอโครงการ 3R (reduce, reuse and recycle) Initiative ซึ่งมีข้อตกลงให้การสนับสนุนเรื่อง 3R ในประเทศกำลังพัฒนาและในระดับสากล โดยรูปธรรมคือการเข้าไปส่งเสริมให้มีโรงงานรีไซเคิลในประเทศอื่น ๆ ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยี เมื่อนำสองช่องทางนี้มาประกอบกันจะเห็นได้ว่าสอดคล้องและเอื้ออำนวยประโยชน์กันอย่างเหมาะเจาะ

ประเทศไทยซึ่งมีทิศทางชัดเจนว่าธุรกิจรีไซเคิลจะขยายตัวอย่างมาก จำเป็นต้องกำหนดจุดยืนหรือนโยบายด้านการจัดการของเสียและธุรกิจรีไซเคิลของประเทศให้ชัดเจน โดยอยู่บนฐานของศักยภาพของประเทศอย่างแท้จริง (ไม่หลอกตัวเอง) และคำนึงถึงสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมในอนาคตของประเทศด้วย เนื่องจากจะอย่างไรสิ่งที่เหลือสุดท้ายจากการรีไซเคิลคือกากของเสียที่ต้องกำจัด ซึ่งไม่ว่าจะเผาหรือฝังกลบล้วนมีผลกระทบต่อสังคมทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรทำน่าจะเป็นการตอบให้ได้ว่าธุรกิจรีไซเคิลแบบไหนที่ประเทศไทยต้องการ


อ่านข่าว ‘ชาวบ้านสุดทนรัฐ “ใส่เกียร์ว่าง” แก้มลพิษตะกั่วนครสวรรค์’, ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 27 สิงหาคม 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3926. หน้า 33 (http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02phu06270850&day=2007-08-27&sectionid=0211)

3R initiative: http://www.env.go.jp/recycle/3r/en/index.html