วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ถ้าเราเปลี่ยน โลกของเราก็เปลี่ยน


ใคร ๆ ก็ชอบของถูก

เวลาที่เราจะซื้ออะไรสักอย่าง เชื่อแน่ว่าหลายคนจะใช้เวลาไปกับการค้นหาของให้ได้ถูกใจมากที่สุด และแน่นอนต้องถูกเงินมากที่สุดด้วยเช่นกัน เวลาเห็นสินค้าที่มีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เราเคยมีคำถามบ้างหรือไม่ว่า ทำไมถึงได้ถูกอย่างนี้? ตัวอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือบางรุ่น ขายกันที่ราคา 1,100 บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าการผลิตและทำตลาดโทรศัพท์เครื่องนี้มีค่าใช้จ่ายเพียงหนึ่งพันกว่าบาท เป็นไปได้หรือ?


เราลองมาดูว่าในการผลิตโทรศัพท์เครื่องหนึ่งมีต้นทุนมาจากอะไรบ้าง

ต้นทุนแรก แน่นอนว่าต้องเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโทรศัพท์ ได้แก่ โลหะ พลาสติก เซรามิกส์ แก้ว และโลหะหายากเช่น ทองแดง (copper) ทอง (gold) ตะกั่ว (lead) นิกเกิล (nickel) สังกะสี (zinc) เบริลเลียม (beryllium) แทนทาลัม (tantalum) โคลตัน (coltan) และอื่น ๆ ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. EPA) ระบุไว้ว่า โทรศัพท์เครื่องหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย โลหะ ร้อยละ 40 พลาสติก ร้อยละ 40 และเซรามิกซ์และโลหะหายาก ร้อยละ 20

ต้นทุนถัดมาเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิต ส่วนประกอบหลัก ๆ คือแผงวงจรพิมพ์ (printed circuit board) ซึ่งเปรียบเสมือนสมองของโทรศัพท์มือถือที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของโทรศัพท์ แผงวงจรนี้ทำมาจากพลาสติกและไฟเบอร์กลาส เคลือบด้วยทอง และต่อเชื่อมกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ส่วนประกอบต่อมาคือ หน้าจอแอลซีดี (LCD) ซึ่งผลิตโดยใส่ผลึกของเหลวลงไประหว่างแผ่นกระจกหรือพลาสติก ถัดมาเป็นแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เรียกว่าอิเล็กโทรด และส่วนที่เป็นของเหลวที่เรียกว่า สารละลายอิเล็กโทรไลท์ ต้นทุนที่ต้องจ่ายในการผลิตและประกอบได้แก่ ค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำบัดของเสีย และค่าบำรุงรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การออกแบบ การบริหารจัดการด้านการตลาด และ ฯลฯ

จากรายการต้นทุนที่ร่ายเรียงมาข้างต้น จะเห็นว่ามีมากมายหลายรายการจนไม่น่าเชื่อว่า 1,100 บาทจะเพียงพอได้อย่างไร เมื่อมองลงไปในรายละเอียด เราพบว่าต้นทุนหลายอย่างผู้ผลิตวัตถุดิบและโทรศัพท์มือถือไม่ได้จ่ายเอง ตัวอย่างเช่น แทนทาลัม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ไฮ-เทคทั้งหลาย เนื่องจากมีสมบัติทนทานต่อความร้อนได้ดีมาก แทนทาลัมได้มาจากแร่โคลตันอีกทีหนึ่ง แร่โคลตันนี้พบมากในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศคองโก ปัญหาคือการทำเหมืองแร่เพื่อสกัดเอาแร่โคลตันออกมาในประเทศคองโก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เนื่องจากต้องการใช้พื้นที่ที่ชาวพื้นเมืองอยู่อาศัยมาทำเหมืองแร่โคลตัน องค์กร Human Right Watch ประมาณการณ์ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 คนพื้นเมืองอย่างน้อย 10,000 คนถูกฆ่าตายและประมาณ 200,000 คน ถูกอพยพไปอยู่ที่

อื่น ต้นทุนค่าแทนทาลัมไม่ได้รวมค่าความเสียหายจากการทำลายล้างที่เกิดขึ้นนี้ ชนพื้นเมืองทางตะวันออกของคองโกคือคนที่แบกรับต้นทุนส่วนนี้แทนผู้ที่ซื้อโทรศัพท์
มือถือเครื่องนี้หรือสินค้าไฮ-เทคอื่น ๆ


ของถูก พังเร็ว

บ่อยครั้งที่เราซื้อสินค้าประเภทไฮ-เทคที่มีราคาถูกมาใช้แล้วพบว่าใช้งานไปเพียงไม่นาน
ก็เสียหาย ไม่สามารถใช้ต่อได้เสียแล้ว ทำให้เราต้องทิ้งของนั้นไปและซื้ออันใหม่มาใช้แทน วงจรชีวิตที่สั้นเช่นนี้ของสินค้าไฮ-เทคเร่งให้เกิดการใช้วัตถุดิบมากขึ้น และปริมาณซากของเสียก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากโครงการสำรวจปริมาณและชนิดของซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
ที่สนับสนุนโดยกรมควบคุมมลพิษ กล่าวไว้ว่าว่ามีของเสียที่เป็นซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งประเทศกว่า
4.4 แสนตันต่อปี ปริมาณซากของเสียที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากดังกล่าว
กำลังเป็นปัญหาในด้านการจัดการ เนื่องจากซากผลิตภัณฑ์สินค้าไฮ-เทคเหล่านี้มีส่วนประกอบ
ของสารอันตราย เช่น ตะกั่ว ปรอทและนิกเกิล เป็นต้น จึงทำให้ซากของเสียมีความเป็นอันตรายไปด้วย การจัดการจึงต้องคำนึงในเรื่องความปลอดภัยด้วย


ไม่ใช้แล้วไปไหน

การจัดการกับซากผลิตภัณฑ์ไฮ-เทคที่หมดอายุการใช้งานแล้วได้แก่ การซ่อมแซมเพื่อใช้ใหม่ และการรีไซเคิลเอาวัตถุดิบกลับมาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งอาจผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ การรีไซเคิลช่วยบรรเทาปัญหาบางส่วน เพราะสามารถลดปริมาณซากของเสียได้ระดับหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ในการรีไซเคิลซากของเสียยังมีความเสี่ยงอันตรายของผู้ที่ทำการรีไซเคิลด้วย ถ้าทำการรีไซเคิลด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม การรีไซเคิลซากของเสียอันตรายจำพวกผลิตภัณฑ์ไฮ-เทคในประเทศไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญ
กับความเสี่ยงต่ออันตรายจากสารอันตราย เนื่องจากการรีไซเคิลในบ้านเราพัฒนามาจาก
กิจการรับซื้อของเก่า ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนและเทคโนโลยี การรวบรวมและคัดแยกดำเนินการโดยบุคคลทั่วไปที่มีรายได้น้อยและไม่มีความรู้ความเข้าใจ
ถึงความเสี่ยงอันตรายจากซากของเสียเหล่านี้ การคัดแยกชิ้นส่วนเพื่อนำมาขายจึงไม่ได้คำนึงในเรื่องความปลอดภัย เช่นทำการแยกทองแดงออกจากสายไฟด้วยการเผา หรือการทุบจอโทรทัศน์ทิ้งเพื่อแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นโลหะ เป็นต้น

ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณของเสียอันตราย รวมทั้งลดการเบียดเบียนผู้อื่นที่ต้องตกเป็นผู้รับภาระผลเสียจากการรังสรรค์สิ่งอำนวยความสุขเหล่านี้

แหล่งข้อมูล

The life-cycle of a cell phone: www.epa.gov/epaoswer/education/pdfs/life-cell.pdf, Aug 15, 2008.

Kristi Essick, 2001. Guns, Money and Cell Phones, The Industry Standard Magazine, Jun 11 2001: http://www.globalissues.org/article/442/guns-money-and-cell-phones, Aug 15, 2008.

"Congo's Bloody Coltan" VDO clip by Pulitzer Center on Crisis Reporting: http://www.pulitzercenter.org/openitem.cfm?id=177, Aug 15, 2008.

“Confessions of an Eco Sinner: Long-distance calling” an edited extract from 'Confessions of an Eco Sinner' by Fred Pearce (Eden Project Books): http://www.telegraph.co.uk/earth/main.jhtml?xml=/earth/2008/02/23/sm_mobilephone123.xml&page=1, Aug 15, 2008.

(ร่าง) รายงานสถานการณ์ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศไทย โครงการสำรวจปริมาณและชนิดของซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ณ ห้องประชุมวีนัส ชั้น3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์
คอนเวนชั่น
: http://infofile.pcd.go.th/haz/Electric_meeting.pdf, 16 สิงหาคม 2551.

กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (7) : โพลีโพรพิลีน

โพลีโพรพิลีน (Polypropylene, PP) ได้รับการพัฒนาและผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1957
จากโพรพิลีน เป็นเทอร์โมพลาสติกที่มีลักษณะเป็นของแข็ง ไม่มีสี มีทั้งโปร่งใสและโปร่งแสง
ผิวเป็นมันเงา ทนกรด เบส และสารเคมีต่างๆ ยกเว้นไฮโดรคาร์บอนและคลอริเนเทตไฮโดรคาร์บอน
แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามโครงสร้างของโพลิโพรพิลีน ได้แก่ ไอโซแทกทิกโพลิโพรพิลีน
ซินดิโอแทกทิกโพลิโพรพิลีน และแอแทกทิกโพลิโพรพิลีน มีสมบัติดีกว่าโพลิเอทิลีนหลายอย่าง
ได้แก่ ทนแรงกระแทกสูง ทนการขีดข่วน ทนสารเคมี มีจุดอ่อนตัวสูง มีความหนาแน่นต่ำ
และมีอุณหภูมิในการหลอมสูง ทำให้ใช้งานที่อุณหภูมิสูงถึง 120 oC

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลิโพรพิลีนมีอะไรบ้าง

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลิโพรพิลีน ได้แก่ กล่อง ของเล่นเด็ก ถุงปุ๋ย ไหมเทียม พรมและแผ่นรองพรม
ผ้าใบกันน้ำ เชือก สายรัดบรรจุภัณฑ์ ถุงร้อน ขวดใส่เครื่องดื่ม ซองขนม ท่อ ปลอกหุ้มสายไฟและ
สายเคเบิล งานเคลือบกระดาษ วัสดุอุดรอยรั่ว กาว และอุปกรณ์ภายในรถยนต์

โพลีโพรพิลีนส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

คนงาน : มีการศึกษาที่บ่งบอกว่าคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโพลีโพรพิลีนมีความเสี่ยงต่อการเกิด
อาการเจ็บป่วยของทางเดินหายใจมากกว่ากลุ่มควบคุม 3.6 เท่า

ผู้บริโภค : อันตรายของผลิตภัณฑ์จากโพลีโพรพิลีนมาจากสารเม็ดสีที่มีตะกั่วและแคดเมียม
ซึ่งผสมลงไปเพื่อทำให้พลาสติกมีสีต่าง ๆ ตะกั่วและแคดเมียมสามารถแพร่กระจายออกมาจาก
พลาสติกได้ นอกจากนี้โพลีโพรพิลีนเป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องมีการเติมสารหน่วงไฟ
เพื่อป้องกันการติดไฟ ซึ่งสารหน่วงไฟที่เติมจะเป็นพวกโบรมิเนเตตและคลอริเนเตต
สารกลุ่มนี้ถ้าไหม้ไฟแล้วจะให้สารพิษไดออกซิน


ข้อควรคำนึง

o การเผาโพลีโพรพิลีนทำให้เกิดก๊าซพิษ

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India
http://www1.pttchem.com/library/dictionary/polypropylene/index.shtml
http://erj.ersjournals.com/cgi/reprint/25/1/110.pdf

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (6) : โพลียูรีเทน

โพลียูรีเทน (Polyurethane, PU) ผลิตขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้ทดแทนยางธรรมชาติ และยังใช้ในการผลิตกระดาษ การผลิตก๊าซมัสตาร์ด ผ้าที่มีความทนทาน เคลือบผิวเครื่องบิน เคลือบโลหะ ไม้ และอิฐ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนและสารเคมี

โพลียูรีเทนผลิตจากปฏิกิริยาของโพลีออลกับไดไอโซไซยาเนตหรือโพลีเมอริก ไอโซไซยาเนต โดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสม โพลียูรีเทนส่วนใหญ่เป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมเซ็ต คือ ไม่สามารถหลอมเหลวและขึ้นรูปใหม่ได้ ซึ่งผลิตออกมาหลายรูปแบบได้แก่ เป็นโฟมยืดหยุ่น โฟมแข็ง สารเคลือบป้องกันสารเคมี กาว สารผนึก และอีลาสโตเมอร์

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลียูรีเทนมีอะไรบ้าง

ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคที่ทำจากโพลียูรีเทนได้แก่ ในกลุ่มเครื่องแต่งกาย โพลียูรีเทนได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเป็นเส้นใยสแปนเด็ก (spandex fiber) ที่มีความทนทานและยืดหยุ่นได้ดี เป็นวัสดุใส่ในหมอน ที่นอน และเบาะนั่งรถยนต์ โฟมกันกระแทกในกล่องบรรจุภัณฑ์ วัสดุประกอบไม้-พลาสติก กาวและสารผนึกต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังใช้ทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ การทำเรือ และอิเล็กทรอนิกส์

ข้อควรคำนึง

โพลียูรีเทนติดไฟได้ง่ายและรวดเร็วมาก และเมื่อไหม้แล้วจะให้ความร้อน และควันหนาแน่นมาก ที่สำคัญคือให้ก๊าซพิษออกมาด้วยได้แก่ ไดออกซิน ไอโซไซยาไนด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น (มีกรณีมากมายที่ไฟไหม้เฟอร์นิเจอร์ที่มีโฟมโพลียูรีเทนประกอบอยู่ด้วย แล้วลุกลามไหม้บ้านทั้งหลัง)

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India
http://www.polyurethane.org/
http://www.anapolschwartz.com/practices/flammable-products/polyurethane.asp
http://pubs.acs.org/cen/whatstuff/84/8402foam.html

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (5) : โพลีคาร์บอเนต


โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC) ผลิตจากก๊าซฟอสจีนหรือคาร์บอนิลคลอไรด์ ก๊าซชนิดนี้เคยถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเคมีในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสารบีสฟีนอล เอ ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1891

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลีคาร์บอเนตมีอะไรบ้าง

เนื่องจากโพลีคาร์บอเนตเป็นพลาสติกที่มีลักษณะใส แข็ง และทนความร้อนจึงนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายได้แก่ หน้าต่างที่ไม่แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เลนส์แว่นตาชนิดน้ำหนักเบา แผ่นซีดี ดีวีดี โล่ปราบจลาจล อุปกรณ์ไฟฟ้า หมวกกันน๊อค แผ่นหลังคา ขวดนมเด็ก ขวดน้ำ ภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถเก็บในตู้เย็นและนำเข้าไมโครเวฟได้ด้วย

อันตรายในขั้นตอนการผลิต

ในประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ก๊าซฟอสจีนรั่วในโรงงานของบริษัทไทยโพลีคาร์บอเนต จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมผาแดง มาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2543 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของโรงงานเสียชีวิต 1 คน และชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงเจ็บป่วยจำนวนมาก

อันตรายต่อผู้บริโภค

จากการศึกษาพบว่าขวดน้ำดื่มที่ทำจากโพลีคาร์บอเนตจะแพร่สารบิสฟีนอล เอ ออกมามากกว่าปกติถึง 55 เท่าเมื่อใส่น้ำร้อน ไม่ว่าจะเป็นขวดเก่าหรือขวดใหม่ก็ตาม ซึ่งการศึกษาโดย US FDA ในสภาพการใช้งานปกติพบว่ามีการแพร่ของบีสฟีนอล เอ จากขวดน้ำขนาด 5 แกลลอนเข้าไปในน้ำที่เก็บไว้ 39 สัปดาห์ อยู่ในช่วง 0.1 – 4.7 ส่วนในพันล้านส่วน

ข้อควรคำนึง

พลาสติกโพลีคาร์บอเนตที่ได้จากการรีไซเคิลจะมีคุณภาพต่ำกว่าก่อนรีไซเคิล (เช่นเดียวกับพลาสติกอื่น ๆ )

ทางเลือก

o ปัจจุบันเริ่มมีการหันกลับมาใช้ขวดนมเด็กที่ผลิตจากแก้ว

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India
http://pslc.ws/macrog/pc.htm
http://www.bpf.co.uk/bpfindustry/plastics_materials_Polycarbonate_PC.cfm
http://www.physorg.com/news120894078.html
http://www.bisphenol-a.org/human/polyplastics.html
http://www.ourstolenfuture.org/NewScience/oncompounds/bisphenola/bpauses.htm

วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (4) : โพลีเอทิลีน


โพลีเอทิลีน (Polyethylene, PE) เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาจากสารตั้งต้นเอทิลีน (ผลผลิตจากปิโตรเลียม) มี 2 ชนิดคือ ชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) และชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ชนิดความหนาแน่นสูงจะหนาแน่นกว่าและแข็งกว่าชนิดหนาแน่นต่ำ โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1942 และถูกนำมาใช้ในกิจการในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้เคลือบสายเคเบิลใต้น้ำและต่อมาใช้เป็นวัสดุฉนวนสำหรับเครื่องมืออุปกรณ์ทางทหาร
ที่สำคัญเช่น เรดาร์


ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลีเอทิลีนมีอะไรบ้าง
ชนิดความหนาแน่นต่ำ : ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกชนิดนี้มีมากมาย ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือ ถุงพลาสติกที่เรียกว่า ถุงก๊อบแก๊บ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร แผ่นเคลือบบอร์ดกระดาษ เคลือบสายเคเบิลและของเล่นเด็ก เป็นต้น

ชนิดความหนาแน่นสูง : เนื่องจากเป็นพลาสติกที่ทนทานต่อสารทำละลายต่างๆ ทำให้มีการนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เช่น

o ภาชนะบรรจุต่าง ๆ เช่น ทัปเปอร์แวร์ ขวดน้ำยาซักผ้า ขวดนม ถังน้ำมันสำหรับยานพาหนะ

o โต๊ะและเก้าอี้แบบพับได้

o ถุงพลาสติก

o ภาชนะใส่สารเคมีบางชนิด

o ท่อทนสารเคมี

o ท่อที่ใช้ในระบบแลกเปลี่ยนความร้อน

o ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ

o ท่อน้ำ


สารพิษที่ระบายออกสู่บรรยากาศในกระบวนการผลิตและรีไซเคิลโพลีเอทิลีน
สารเคมีอันตรายจำนวนมากถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตโพลีเอทิลีน ได้แก่ เบนซีน โครเมียมออกไซด์ คิวมีนไฮเปอร์ออกไซด์ เทอร์-บิวทิล โฮโดรเพอร์ออกไซด์ และเอทิลีน ซึ่งสารตั้งที่ต้นตัวสำคัญ

เบนซีน ใช้เป็นสารทำละลายในการผลิตโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ การสูดดมเบนซีนมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง และอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ และคลื่นไส้ เป็นต้น

บิวทิล โฮโดรเพอร์ออกไซด์ ใช้เป็นสารที่ทำให้โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำชนิดสายเป็นเส้นตรงเกิดการจับตัวเป็นโพลีเมอร์ การได้รับสัมผัสสารนี้อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นได้เช่น เกิดลักษณะไหม้ที่ผิว ไอ จาม หายในสั้น ปวดหัว คลื่นไส้ และอาเจียน และมีผลการทดลองในสัตว์ที่ชี้บ่งว่าสารนี้ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์

คิวมีนไฮโดรเพอร์ออกไซด์ ใช้ในกระบวนการจับตัวเป็นโพลีเมอร์ของโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ สารนี้จะแสดงอันตรายเฉียบพลันหากกลืนกินเข้าไป หายใจเข้าไป หรือซึมผ่านผิวหนัง


โครเมียม (6) ออกไซด์ ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการจับตัวเป็นโพลีเมอร์ของโพลีเอทิลีนทั้งชนิด
ความหนาแน่นสูงและต่ำ สารนี้มีผลการทดลองในสัตว์ที่บ่งบอกว่าเกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็งและก่อการกลายพันธุ์ การทำงานกับสารนี้เป็นเวลานานส่งผลต่อตับและระบบประสาทอย่างรุนแรง


ผลกระทบต่อสุขภาพของโพลีเอทิลีนของผู้บริโภค
ผู้ที่ใช้ถุงพลาสติกที่เป็นสีต่าง ๆ อาจได้รับอันตรายจากเม็ดสีที่เติมเข้าไป ซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและแคดเมียม สารทั้งสองตัวนี้สามารถแพร่ออกมาจากพลาสติกได้ และหากสัมผัสกับสารเหล่านี้อาจเกิดอันตรายได้ ในกรณีตะกั่วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง หมดสติ ทางเดินหายใจขัดข้อง หัวใจวาย หรืออาจตายได้ ส่วนแคดเมียมมีผลทำลายเซลและเนื้อเยื่อของไตทำให้เกิดภาวะไตอักเสบรุนแรง


ข้อควรระวัง
o การเผาโพลีเอทิลีนก่อให้เกิดสารอะซิทัลดีไฮด์และฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งทั้งสองสารนี้ต้องสงสัยว่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง


ถิติที่น่าสนใจ
o นกทะเลและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องตายจากการกินถุงพลาสติกปีละประมาณ 1 พันล้านตัว

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India

http://plastics.dow.com/plastics/ap/prod/polyethylene/ldpe.htm

http://www.sigmaaldrich.com/cgi-bin/hsrun/Suite7/Suite/HAHTpage/Suite.HsSigmaAdvancedSearch.formAction

http://environmental-activism.suite101.com/article.cfm/say_no_to_plastic_bags

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (3) : โพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท


พลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (Polyethylene Terephthalate)หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “เพท” (PET) เป็นพลาสติกเทอร์โมพลาสติก (หลอมที่อุณหภูมิสูงและแข็งตัวเมื่อเย็น) ที่ผลิตขึ้นได้จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเอทิลีนไกลคอลและไดเมทิลเทอพาทาเลต หรือระหว่างสารเอทิลีนไกลคอลและกรดเทอพาทาลิก แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ไดเมทิลเทอพาทาเลต ในการทดลองกับสัตว์พบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ก่อการกลายพันธุ์ และเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ สารเร่งปฏิกิริยาเคมีเช่น แอนติโมนี่ไตรออกไซด์ หรือแอนติโมนี่ไตรอะซิเตท

พลาสติกเพทนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่มีเนื้อใส (A-PET) และกลุ่มที่เป็นผลึกสีขาว (C-PET) เพทมีคุณสมบัติที่สามารถทำเป็นพลาสติกที่มีลักษณะกึ่งแข็งไปจนถึงเป็นของแข็งได้โดยการปรับความหนา และมีน้ำหนักเบา กันก๊าซและแอลกอฮอล์ได้ดี

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเพทมีอะไรบ้าง
ในช่วงทศวรรษ 1940 เพทถูกนำไปใช้ในการผลิตเส้นใยและแผ่นฟิล์ม ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 นี่เองจึงมีการนำเพทมาใช้เป็นขวดบรรจุเครื่องดื่มอัดลม จากนั้นความต้องการใช้เพททำภาชนะบรรจุก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในส่วนของแผ่นฟิล์มก็ได้มีการพัฒนาคุณภาพโดยการเติมโลหะ เช่น อะลูมิเนียม เพื่อเพิ่มคุณสมบัติความทึบแสง สะท้อนแสง ฉนวนไฟฟ้า ซึ่งนำมาใช้ใส่อาหาร เช่นถุงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เคลือบผิวกระดาษ ฉนวนกันไฟฟ้า นอกจากนี้ เพทยังใช้ทำเป็นแผ่นผ้าฉนวนกันความร้อนที่ใช้คลุมภายนอกยานสำรวจวิจัยที่ประกอบในอวกาศ

เพทอันตรายอย่างไร
เพทแพร่สารอะซิทัลดีไฮด์เข้าไปปนเปื้อนผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่บรรจุอยู่ในภาชนะที่ทำจากเพท เช่น ขวดโซดา ขวดน้ำ ขวดน้ำมันสำหรับทำอาหาร เป็นต้น อะซีทัลดีไฮด์เป็นสารที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริการะบุว่าเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ในคนรวมทั้งอาจเป็นส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมอง

ข้อควรระวัง
มีผลการศึกษาน้ำแร่ที่บรรจุในขวดเพทพบว่ามีสิ่งชี้บ่งของความเป็นพิษเกิดขึ้นภายหลังจากบรรจุน้ำ
ลงขวดแล้ว 8 สัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำที่บรรจุในขวดเพทนานเกินกว่า 8 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเก็บที่อุณหภูมิใดก็ตาม

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India


http://nexant.ecnext.com/coms2/gi_0255-144/Polyethylene-Terephthalate-PET.html

http://en.wikipedia.org/wiki/Polyethylene_terephthalate

http://www.mindfully.org/Plastic/Polyethylene/PET-Mineral-Water1dec00.htm

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (2) : โพลีไวนิลคลอไรด์


โพลีไวนิลคลอไรด์หรือที่เรียกกันว่า พีวีซี เป็นพลาสติกที่ได้จากไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ได้มาจากเอทิลีนและคลอรีน พีวีซีได้รับการคิดค้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1912 แต่ผลิตออกจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1931 เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม กองทัพนาซีของเยอรมนีมีการผลิตผ้าเรยอนจำนวนมาก ทำให้มีคลอรีนซึ่งเป็นผลพลอยได้เกิดขึ้นจำนวนมากด้วย

พีวีซีเป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก คือหลอมเป็นของเหลวได้ โดยที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ในสถานะของแข็ง

ผลิตภัณฑ์จากพีวีซี ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนจำนวนมากผลิตจากพีวีซี ตัวอย่างเช่น

กลุ่มของใช้ในบ้าน ได้แก่ ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ต้นคริตส์มาสปลอม เฟอร์นิเจอร์หนังเทียม แผ่นใส่รูปถ่าย ชั้นวางของ รถเข็นเด็ก ม่านในห้องอาบน้ำ ของเล่นเด็ก เตียงน้ำ เป็นต้น

กลุ่มของใช้ในครัว ได้แก่ กล่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม อาหาร ตะแกรงคว่ำจาน เครื่องล้างจาน ตู้เย็น วัสดุห่อหุ้มอาหาร เครื่องครัวที่เป็นพลาสติก ผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ชุดกันเปื้อน กระเป๋า เป้สะพานหลัง (เคลือบพีวีซีกันน้ำ) รองเท้าบูท เสื้อผ้าชั้นในสตรี เสื้อกันฝน กระโปรง รองเท้า เป็นต้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทางการแพทย์ ได้แก่ ถุงใส่เลือด สายหรือท่อสำหรับสอดเข้าร่างกาย ถุงมือ หลอดต่าง ๆ เป็นต้น

กลุ่มรถยนต์ ได้แก่ ที่นั่งสำหรับเด็ก แผงหน้าปัด บานประตู กรวยจราจร ผ้าปูเบาะ เคลือบสายไฟ เคลือบตัวถัง เป็นต้น

กลุ่มวัสดุอาคาร ได้แก่ กรอบประตู รั้ว พื้น ท่อ กระเบื้อง วัสดุปูผนัง กรอบหน้าต่าง บานเกล็ดหน้าต่าง ฉนวนสายไฟสายเคเบิล เป็นต้น และนอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อีกมากมายทั้งผลิตภัณฑ์สำนักงาน บรรจุภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ

พีวีซีอันตรายอย่างไร

พีวีซีเป็นพลาสติกที่มีพิษมากที่สุดในโลก สามารถก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้ทุกขั้นตอนในวงจรชีวิตของพีวีซี

อันตรายตอนใช้ : สารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพพีวีซี เช่น สารพลาสติกไซเซอร์และสารอื่น ๆ ได้แก่ พาทาเลท สารแต่งสีซึ่งมีตะกั่วและแคดเมียม สารทำให้คงตัว (stabilizers) เช่น แบเรียม สามารถแพร่กระจายออกมาจากพีวีซีได้ ในกรณีที่ใช้ใส่หรือห่อหุ้มอาหารสารเหล่านี้สามารถปนเปื้อนในอาหารได้

อันตรายตอนเผาทำลาย : เมื่อพีวีซีซึ่งมีคลอรีนเป็นองค์ประกอบเผาไหม้จะให้ก๊าซที่เป็นกรด สารพิษไดออกซิน และสารออกาโนคลอรีนอื่น ๆ การเผาพีวีซี 1 กิโลกรัมจะให้ไดออกซินออกมามากเพียงพอที่จะทำให้สัตว์ทดลอง 50,000 ตัวเกิดมะเร็ง ในควันที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้จะมีไฮโดรเจนคลอไรด์ ซึ่งรวมตัวกับความชื้น (น้ำ) ได้เป็นกรดไฮโดรคลอริกซึ่งมีฤทธ์กัดกร่อนสูง

อันตรายในขั้นตอนรีไซเคิลและผลิต : มีรายงานการศึกษาที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานในโรงผลิตไวนิลคลอไรด์และการเพิ่มขึ้นของโรคต่าง ๆ ได้แก่ มะเร็งตับชนิดที่พบไม่บ่อย มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งระบบน้ำเหลือง และตับแข็ง ในกระบวนการรีไซเคิลด้วยวิธีทางกล พบว่ามีปัญหาการแพร่กระจายของสารเติมแต่งที่ใส่เพื่อปรับคุณภาพพีวีซีได้แก่ ตะกั่ว แคดเมียม และสารกลุ่มพีซีบี นอกจากส่งผลลบต่อคนงานแล้วยังพบว่ามีไวนิลคลอไรด์ระบายสู่บรรยากาศโดยรอบโรงงานด้วย เช่นโรงงานในหลุยส์เซียน่า สหรัฐอเมริกา ที่พบว่ามีปริมาณไวนิลคลอไรด์ระบายสู่บรรยากาศสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศถึง 120 เท่า ในประเทศไทยเองมีโรงงานผลิตไวนิลคลอไรด์และพีวีซีตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง 5 แห่ง ผลการตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษระหว่างปี พ.ศ. 2550 พบว่ามีสารไวนิลคลอไรด์ และเอทิลีนไดคลอไรด์ (สารตั้งต้นผลิตไวนิลคลอไรด์) เจือปนอยู่ในบรรยากาศบริเวณนั้นเช่นกัน

ทางเลือก

ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้พีวีซีจำนวนมาก เช่น วัสดุก่อสร้างอาคารที่ปราศจากพีวีซี เป็นต้น ดูรายละเอียดวัสดุทดแทนได้ที่ลิงก์ต่อไปนี้

http://www.healthybuilding.net/pvc/alternatives.html

http://archive.greenpeace.org/toxics/pvcdatabase/productalt.html

http://www.pvcinformation.org/links/index.php?catid=2

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION

-------------------------------------

เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India


http://www.besafenet.com/pvc/pvcproducts.htm

http://www.besafenet.com/pvc/plants.htm

http://www.pcd.go.th/Info_serv/pol_maptapoot_airnd.html


วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (1) : โพลีสไตรีน


โพลีสไตรีน (Polystyrene, PS) เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาจากสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากปิโตรเลียม ถูกผลิตออกขายครั้งแรกในช่วงปี 1930 - 1939 ช่วงแรกสไตรีนที่ผลิตขึ้นมาถูกนำไปใช้ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 เป็นหลัก หลังจากสงครามจบลงจึงเปลี่ยนมาผลิตเป็นพลาสติกโพลีสไตรีนออกขายแทน ในการผลิตโพลีสไตรีนยังมีวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมด้วยได้แก่ เบนซีน เอทิลีน และบิวทาไดอีน

โพลีสไตรีนเป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก คือหลอมเป็นของเหลวได้ โดยที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ในสถานะของแข็ง แต่จะหลอมละลายเมื่อทำให้ร้อนและแข็งตัวเมื่อเย็นลง โพลีสไตรีนแข็งที่บริสุทธิ์จะไม่มีสี ใส แต่สามารถทำเป็นสีต่าง ๆได้ และยืดหยุ่นได้จำกัด

โพลีสไตรีนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เรียกว่า expanded polystyrene (EPS) เป็นชนิดที่ได้จากการผสมโพลีสไตรีนร้อยละ 90-95 กับสารทำให้ขยายตัว (ที่ใช้กันมากคือเพนเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อก่อนใช้ ซีเอฟซี ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นโอโซน) ร้อยละ 5-10 พลาสติกที่เป็นของแข็งถูกทำให้เป็นโฟมโดยการใช้ความร้อน (มักเป็นไอน้ำ) โพลีสไตรีนอีกชนิดหนึ่งคือ Extruded polystyrene (XPS) มีชื่อทางการค้าที่แพร่หลายคือ Styrofoam เป็นชนิดที่มีการเติมอากาศไว้ในช่องว่างตามเนื้อโฟมทำให้มีค่าการนำความร้อนต่ำ ใช้ในงานก่อสร้าง และใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในอาคาร และยังมีชนิดที่เป็นแผ่นเรียกว่า Polystyrene Paper Foam (PSP) ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร เช่นกล่องหรือถาดใส่อาหาร

กระบวนการผลิตโพลีสไตรีนปลดปล่อยสารพิษอะไรบ้าง สารพิษที่ปลดปล่อยออกมาในระหว่างการผลิตโพลีสไตรีนได้แก่

1. เบนซีน (เป็นสารก่อมะเร็ง)

2. สไตรีนโมโนเมอร์ (เป็นสารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง)

3. 1,3-บิวทาไดอีน (เป็นสารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง)

4. คาร์บอนเตตระคลอไรด์ ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองและสงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็งในคน)

5. โครเมี่ยม (6) ออกไซด์ ก่อให้เกิดมะเร็งและการกลายพันธุ์ในสัตว์ทดลอง

มีรายงานการตรวจพบว่าคนงานที่ทำงานในโรงงานสไตรีนและโพลีสไตรีนมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับการทำงานของปอด ทำลายโครโมโซม และเป็นมะเร็งเพิ่มมากขึ้น

อะไรบ้างที่ทำจากโพลีสไตรีน

- แก้วโฟมที่ใช้แล้วทิ้ง ที่ค้นพลาสติก จานหรือถาดพลาสติกใส่อาหาร

- โฟมที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นบรรจุภัณฑ์กันกระแทกสำหรับใส่ขวดไวน์ ผลไม้ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

- วัสดุช่วยพยุงให้ลอยน้ำ

- แผ่นฉนวนกันความร้อนในอาคาร

- อื่น ๆ เช่น ไม้บรรทัด ไม้แขวนเสื้อ ม้วนวีดีโอ ตลับเทป เป็นต้น


ข้อควรระวัง

1. การใช้ภาชนะโฟมพลาสติก EPS ใส่อาหารที่ร้อน เช่นกาแฟร้อน การค้นกาแฟร้อน ๆ ด้วยแท่งคนที่ทำจากพลาสติก EPS หรือการที่โฟมสัมผัสกับกรดเช่น้ำมะนาว หรืออาหารที่มีวิตามิน เอแล้วนำไปเข้าไมโครเวฟ ก็สามารถทำให้สไตรีนโมโนเมอร์ในโฟมพลาสติกละลายออกมาผสมในอาหารได้

2. การเผาโฟมพลาสติกโพลีสไตรีนทำให้เกิดก๊าซพิษสไตรีนออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของของมะเร็ง

3. การรีไซเคิลโฟมโพลีสไตรีนมีปัญหาในเรื่องไม่คุ้มทุนเป็นสำคัญ เนื่องจากคุณภาพของพลาสติกที่รีไซเคิลได้จะต่ำลงกว่าก่อนผ่านการรีไซเคิล ดังนั้นพลาสติกที่รีไซเคิลได้จึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ต้องทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพลงไป เช่นโฟมบรรจุอาหารไม่สามารถรีไซเคิลกลับมาใส่อาหารได้อีก ต้องนำไปทำเป็นโฟมกันกระแทก ฉนวนฝาผนัง ถาดในโรงอาหาร เป็นต้น ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องใช้เพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านต่าง ๆ เข้าไปอีก

ทางเลือก

หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์โฟมโพลีสไตรีนโดยใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน เช่นเลิกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นโฟม เป็นต้น


I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India

จิราวรรณ หาญวัฒนกุล, เมษายน 2550. โฟมพลาสติกชนิดพอลิยูรีเทนและพอลิสไตรีน http://www.dss.go.th/dssweb/st-articles/files/bla_4_2550_foams.pdf

http://en.wikipedia.org/wiki/Polystyrene

http://www.ejnet.org/plastics/polystyrene/nader.html

http://www.ejnet.org/plastics/polystyrene/disposal.html#recycling