วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ถ้าเราเปลี่ยน โลกของเราก็เปลี่ยน


ใคร ๆ ก็ชอบของถูก

เวลาที่เราจะซื้ออะไรสักอย่าง เชื่อแน่ว่าหลายคนจะใช้เวลาไปกับการค้นหาของให้ได้ถูกใจมากที่สุด และแน่นอนต้องถูกเงินมากที่สุดด้วยเช่นกัน เวลาเห็นสินค้าที่มีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เราเคยมีคำถามบ้างหรือไม่ว่า ทำไมถึงได้ถูกอย่างนี้? ตัวอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือบางรุ่น ขายกันที่ราคา 1,100 บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าการผลิตและทำตลาดโทรศัพท์เครื่องนี้มีค่าใช้จ่ายเพียงหนึ่งพันกว่าบาท เป็นไปได้หรือ?


เราลองมาดูว่าในการผลิตโทรศัพท์เครื่องหนึ่งมีต้นทุนมาจากอะไรบ้าง

ต้นทุนแรก แน่นอนว่าต้องเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโทรศัพท์ ได้แก่ โลหะ พลาสติก เซรามิกส์ แก้ว และโลหะหายากเช่น ทองแดง (copper) ทอง (gold) ตะกั่ว (lead) นิกเกิล (nickel) สังกะสี (zinc) เบริลเลียม (beryllium) แทนทาลัม (tantalum) โคลตัน (coltan) และอื่น ๆ ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. EPA) ระบุไว้ว่า โทรศัพท์เครื่องหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย โลหะ ร้อยละ 40 พลาสติก ร้อยละ 40 และเซรามิกซ์และโลหะหายาก ร้อยละ 20

ต้นทุนถัดมาเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิต ส่วนประกอบหลัก ๆ คือแผงวงจรพิมพ์ (printed circuit board) ซึ่งเปรียบเสมือนสมองของโทรศัพท์มือถือที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของโทรศัพท์ แผงวงจรนี้ทำมาจากพลาสติกและไฟเบอร์กลาส เคลือบด้วยทอง และต่อเชื่อมกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ส่วนประกอบต่อมาคือ หน้าจอแอลซีดี (LCD) ซึ่งผลิตโดยใส่ผลึกของเหลวลงไประหว่างแผ่นกระจกหรือพลาสติก ถัดมาเป็นแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เรียกว่าอิเล็กโทรด และส่วนที่เป็นของเหลวที่เรียกว่า สารละลายอิเล็กโทรไลท์ ต้นทุนที่ต้องจ่ายในการผลิตและประกอบได้แก่ ค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำบัดของเสีย และค่าบำรุงรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การออกแบบ การบริหารจัดการด้านการตลาด และ ฯลฯ

จากรายการต้นทุนที่ร่ายเรียงมาข้างต้น จะเห็นว่ามีมากมายหลายรายการจนไม่น่าเชื่อว่า 1,100 บาทจะเพียงพอได้อย่างไร เมื่อมองลงไปในรายละเอียด เราพบว่าต้นทุนหลายอย่างผู้ผลิตวัตถุดิบและโทรศัพท์มือถือไม่ได้จ่ายเอง ตัวอย่างเช่น แทนทาลัม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ไฮ-เทคทั้งหลาย เนื่องจากมีสมบัติทนทานต่อความร้อนได้ดีมาก แทนทาลัมได้มาจากแร่โคลตันอีกทีหนึ่ง แร่โคลตันนี้พบมากในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศคองโก ปัญหาคือการทำเหมืองแร่เพื่อสกัดเอาแร่โคลตันออกมาในประเทศคองโก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เนื่องจากต้องการใช้พื้นที่ที่ชาวพื้นเมืองอยู่อาศัยมาทำเหมืองแร่โคลตัน องค์กร Human Right Watch ประมาณการณ์ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 คนพื้นเมืองอย่างน้อย 10,000 คนถูกฆ่าตายและประมาณ 200,000 คน ถูกอพยพไปอยู่ที่

อื่น ต้นทุนค่าแทนทาลัมไม่ได้รวมค่าความเสียหายจากการทำลายล้างที่เกิดขึ้นนี้ ชนพื้นเมืองทางตะวันออกของคองโกคือคนที่แบกรับต้นทุนส่วนนี้แทนผู้ที่ซื้อโทรศัพท์
มือถือเครื่องนี้หรือสินค้าไฮ-เทคอื่น ๆ


ของถูก พังเร็ว

บ่อยครั้งที่เราซื้อสินค้าประเภทไฮ-เทคที่มีราคาถูกมาใช้แล้วพบว่าใช้งานไปเพียงไม่นาน
ก็เสียหาย ไม่สามารถใช้ต่อได้เสียแล้ว ทำให้เราต้องทิ้งของนั้นไปและซื้ออันใหม่มาใช้แทน วงจรชีวิตที่สั้นเช่นนี้ของสินค้าไฮ-เทคเร่งให้เกิดการใช้วัตถุดิบมากขึ้น และปริมาณซากของเสียก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากโครงการสำรวจปริมาณและชนิดของซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
ที่สนับสนุนโดยกรมควบคุมมลพิษ กล่าวไว้ว่าว่ามีของเสียที่เป็นซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งประเทศกว่า
4.4 แสนตันต่อปี ปริมาณซากของเสียที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากดังกล่าว
กำลังเป็นปัญหาในด้านการจัดการ เนื่องจากซากผลิตภัณฑ์สินค้าไฮ-เทคเหล่านี้มีส่วนประกอบ
ของสารอันตราย เช่น ตะกั่ว ปรอทและนิกเกิล เป็นต้น จึงทำให้ซากของเสียมีความเป็นอันตรายไปด้วย การจัดการจึงต้องคำนึงในเรื่องความปลอดภัยด้วย


ไม่ใช้แล้วไปไหน

การจัดการกับซากผลิตภัณฑ์ไฮ-เทคที่หมดอายุการใช้งานแล้วได้แก่ การซ่อมแซมเพื่อใช้ใหม่ และการรีไซเคิลเอาวัตถุดิบกลับมาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งอาจผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ การรีไซเคิลช่วยบรรเทาปัญหาบางส่วน เพราะสามารถลดปริมาณซากของเสียได้ระดับหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ในการรีไซเคิลซากของเสียยังมีความเสี่ยงอันตรายของผู้ที่ทำการรีไซเคิลด้วย ถ้าทำการรีไซเคิลด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม การรีไซเคิลซากของเสียอันตรายจำพวกผลิตภัณฑ์ไฮ-เทคในประเทศไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญ
กับความเสี่ยงต่ออันตรายจากสารอันตราย เนื่องจากการรีไซเคิลในบ้านเราพัฒนามาจาก
กิจการรับซื้อของเก่า ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนและเทคโนโลยี การรวบรวมและคัดแยกดำเนินการโดยบุคคลทั่วไปที่มีรายได้น้อยและไม่มีความรู้ความเข้าใจ
ถึงความเสี่ยงอันตรายจากซากของเสียเหล่านี้ การคัดแยกชิ้นส่วนเพื่อนำมาขายจึงไม่ได้คำนึงในเรื่องความปลอดภัย เช่นทำการแยกทองแดงออกจากสายไฟด้วยการเผา หรือการทุบจอโทรทัศน์ทิ้งเพื่อแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นโลหะ เป็นต้น

ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณของเสียอันตราย รวมทั้งลดการเบียดเบียนผู้อื่นที่ต้องตกเป็นผู้รับภาระผลเสียจากการรังสรรค์สิ่งอำนวยความสุขเหล่านี้

แหล่งข้อมูล

The life-cycle of a cell phone: www.epa.gov/epaoswer/education/pdfs/life-cell.pdf, Aug 15, 2008.

Kristi Essick, 2001. Guns, Money and Cell Phones, The Industry Standard Magazine, Jun 11 2001: http://www.globalissues.org/article/442/guns-money-and-cell-phones, Aug 15, 2008.

"Congo's Bloody Coltan" VDO clip by Pulitzer Center on Crisis Reporting: http://www.pulitzercenter.org/openitem.cfm?id=177, Aug 15, 2008.

“Confessions of an Eco Sinner: Long-distance calling” an edited extract from 'Confessions of an Eco Sinner' by Fred Pearce (Eden Project Books): http://www.telegraph.co.uk/earth/main.jhtml?xml=/earth/2008/02/23/sm_mobilephone123.xml&page=1, Aug 15, 2008.

(ร่าง) รายงานสถานการณ์ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศไทย โครงการสำรวจปริมาณและชนิดของซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ณ ห้องประชุมวีนัส ชั้น3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์
คอนเวนชั่น
: http://infofile.pcd.go.th/haz/Electric_meeting.pdf, 16 สิงหาคม 2551.

กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม