วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (4) : โพลีเอทิลีน


โพลีเอทิลีน (Polyethylene, PE) เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาจากสารตั้งต้นเอทิลีน (ผลผลิตจากปิโตรเลียม) มี 2 ชนิดคือ ชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) และชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ชนิดความหนาแน่นสูงจะหนาแน่นกว่าและแข็งกว่าชนิดหนาแน่นต่ำ โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1942 และถูกนำมาใช้ในกิจการในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้เคลือบสายเคเบิลใต้น้ำและต่อมาใช้เป็นวัสดุฉนวนสำหรับเครื่องมืออุปกรณ์ทางทหาร
ที่สำคัญเช่น เรดาร์


ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลีเอทิลีนมีอะไรบ้าง
ชนิดความหนาแน่นต่ำ : ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกชนิดนี้มีมากมาย ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือ ถุงพลาสติกที่เรียกว่า ถุงก๊อบแก๊บ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร แผ่นเคลือบบอร์ดกระดาษ เคลือบสายเคเบิลและของเล่นเด็ก เป็นต้น

ชนิดความหนาแน่นสูง : เนื่องจากเป็นพลาสติกที่ทนทานต่อสารทำละลายต่างๆ ทำให้มีการนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เช่น

o ภาชนะบรรจุต่าง ๆ เช่น ทัปเปอร์แวร์ ขวดน้ำยาซักผ้า ขวดนม ถังน้ำมันสำหรับยานพาหนะ

o โต๊ะและเก้าอี้แบบพับได้

o ถุงพลาสติก

o ภาชนะใส่สารเคมีบางชนิด

o ท่อทนสารเคมี

o ท่อที่ใช้ในระบบแลกเปลี่ยนความร้อน

o ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ

o ท่อน้ำ


สารพิษที่ระบายออกสู่บรรยากาศในกระบวนการผลิตและรีไซเคิลโพลีเอทิลีน
สารเคมีอันตรายจำนวนมากถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตโพลีเอทิลีน ได้แก่ เบนซีน โครเมียมออกไซด์ คิวมีนไฮเปอร์ออกไซด์ เทอร์-บิวทิล โฮโดรเพอร์ออกไซด์ และเอทิลีน ซึ่งสารตั้งที่ต้นตัวสำคัญ

เบนซีน ใช้เป็นสารทำละลายในการผลิตโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ การสูดดมเบนซีนมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง และอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ และคลื่นไส้ เป็นต้น

บิวทิล โฮโดรเพอร์ออกไซด์ ใช้เป็นสารที่ทำให้โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำชนิดสายเป็นเส้นตรงเกิดการจับตัวเป็นโพลีเมอร์ การได้รับสัมผัสสารนี้อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นได้เช่น เกิดลักษณะไหม้ที่ผิว ไอ จาม หายในสั้น ปวดหัว คลื่นไส้ และอาเจียน และมีผลการทดลองในสัตว์ที่ชี้บ่งว่าสารนี้ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์

คิวมีนไฮโดรเพอร์ออกไซด์ ใช้ในกระบวนการจับตัวเป็นโพลีเมอร์ของโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ สารนี้จะแสดงอันตรายเฉียบพลันหากกลืนกินเข้าไป หายใจเข้าไป หรือซึมผ่านผิวหนัง


โครเมียม (6) ออกไซด์ ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการจับตัวเป็นโพลีเมอร์ของโพลีเอทิลีนทั้งชนิด
ความหนาแน่นสูงและต่ำ สารนี้มีผลการทดลองในสัตว์ที่บ่งบอกว่าเกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็งและก่อการกลายพันธุ์ การทำงานกับสารนี้เป็นเวลานานส่งผลต่อตับและระบบประสาทอย่างรุนแรง


ผลกระทบต่อสุขภาพของโพลีเอทิลีนของผู้บริโภค
ผู้ที่ใช้ถุงพลาสติกที่เป็นสีต่าง ๆ อาจได้รับอันตรายจากเม็ดสีที่เติมเข้าไป ซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและแคดเมียม สารทั้งสองตัวนี้สามารถแพร่ออกมาจากพลาสติกได้ และหากสัมผัสกับสารเหล่านี้อาจเกิดอันตรายได้ ในกรณีตะกั่วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง หมดสติ ทางเดินหายใจขัดข้อง หัวใจวาย หรืออาจตายได้ ส่วนแคดเมียมมีผลทำลายเซลและเนื้อเยื่อของไตทำให้เกิดภาวะไตอักเสบรุนแรง


ข้อควรระวัง
o การเผาโพลีเอทิลีนก่อให้เกิดสารอะซิทัลดีไฮด์และฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งทั้งสองสารนี้ต้องสงสัยว่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง


ถิติที่น่าสนใจ
o นกทะเลและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องตายจากการกินถุงพลาสติกปีละประมาณ 1 พันล้านตัว

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India

http://plastics.dow.com/plastics/ap/prod/polyethylene/ldpe.htm

http://www.sigmaaldrich.com/cgi-bin/hsrun/Suite7/Suite/HAHTpage/Suite.HsSigmaAdvancedSearch.formAction

http://environmental-activism.suite101.com/article.cfm/say_no_to_plastic_bags

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (3) : โพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท


พลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (Polyethylene Terephthalate)หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “เพท” (PET) เป็นพลาสติกเทอร์โมพลาสติก (หลอมที่อุณหภูมิสูงและแข็งตัวเมื่อเย็น) ที่ผลิตขึ้นได้จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเอทิลีนไกลคอลและไดเมทิลเทอพาทาเลต หรือระหว่างสารเอทิลีนไกลคอลและกรดเทอพาทาลิก แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ไดเมทิลเทอพาทาเลต ในการทดลองกับสัตว์พบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ก่อการกลายพันธุ์ และเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ สารเร่งปฏิกิริยาเคมีเช่น แอนติโมนี่ไตรออกไซด์ หรือแอนติโมนี่ไตรอะซิเตท

พลาสติกเพทนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่มีเนื้อใส (A-PET) และกลุ่มที่เป็นผลึกสีขาว (C-PET) เพทมีคุณสมบัติที่สามารถทำเป็นพลาสติกที่มีลักษณะกึ่งแข็งไปจนถึงเป็นของแข็งได้โดยการปรับความหนา และมีน้ำหนักเบา กันก๊าซและแอลกอฮอล์ได้ดี

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเพทมีอะไรบ้าง
ในช่วงทศวรรษ 1940 เพทถูกนำไปใช้ในการผลิตเส้นใยและแผ่นฟิล์ม ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 นี่เองจึงมีการนำเพทมาใช้เป็นขวดบรรจุเครื่องดื่มอัดลม จากนั้นความต้องการใช้เพททำภาชนะบรรจุก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในส่วนของแผ่นฟิล์มก็ได้มีการพัฒนาคุณภาพโดยการเติมโลหะ เช่น อะลูมิเนียม เพื่อเพิ่มคุณสมบัติความทึบแสง สะท้อนแสง ฉนวนไฟฟ้า ซึ่งนำมาใช้ใส่อาหาร เช่นถุงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เคลือบผิวกระดาษ ฉนวนกันไฟฟ้า นอกจากนี้ เพทยังใช้ทำเป็นแผ่นผ้าฉนวนกันความร้อนที่ใช้คลุมภายนอกยานสำรวจวิจัยที่ประกอบในอวกาศ

เพทอันตรายอย่างไร
เพทแพร่สารอะซิทัลดีไฮด์เข้าไปปนเปื้อนผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่บรรจุอยู่ในภาชนะที่ทำจากเพท เช่น ขวดโซดา ขวดน้ำ ขวดน้ำมันสำหรับทำอาหาร เป็นต้น อะซีทัลดีไฮด์เป็นสารที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริการะบุว่าเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ในคนรวมทั้งอาจเป็นส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมอง

ข้อควรระวัง
มีผลการศึกษาน้ำแร่ที่บรรจุในขวดเพทพบว่ามีสิ่งชี้บ่งของความเป็นพิษเกิดขึ้นภายหลังจากบรรจุน้ำ
ลงขวดแล้ว 8 สัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำที่บรรจุในขวดเพทนานเกินกว่า 8 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเก็บที่อุณหภูมิใดก็ตาม

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India


http://nexant.ecnext.com/coms2/gi_0255-144/Polyethylene-Terephthalate-PET.html

http://en.wikipedia.org/wiki/Polyethylene_terephthalate

http://www.mindfully.org/Plastic/Polyethylene/PET-Mineral-Water1dec00.htm

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (2) : โพลีไวนิลคลอไรด์


โพลีไวนิลคลอไรด์หรือที่เรียกกันว่า พีวีซี เป็นพลาสติกที่ได้จากไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ได้มาจากเอทิลีนและคลอรีน พีวีซีได้รับการคิดค้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1912 แต่ผลิตออกจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1931 เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม กองทัพนาซีของเยอรมนีมีการผลิตผ้าเรยอนจำนวนมาก ทำให้มีคลอรีนซึ่งเป็นผลพลอยได้เกิดขึ้นจำนวนมากด้วย

พีวีซีเป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก คือหลอมเป็นของเหลวได้ โดยที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ในสถานะของแข็ง

ผลิตภัณฑ์จากพีวีซี ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนจำนวนมากผลิตจากพีวีซี ตัวอย่างเช่น

กลุ่มของใช้ในบ้าน ได้แก่ ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ต้นคริตส์มาสปลอม เฟอร์นิเจอร์หนังเทียม แผ่นใส่รูปถ่าย ชั้นวางของ รถเข็นเด็ก ม่านในห้องอาบน้ำ ของเล่นเด็ก เตียงน้ำ เป็นต้น

กลุ่มของใช้ในครัว ได้แก่ กล่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม อาหาร ตะแกรงคว่ำจาน เครื่องล้างจาน ตู้เย็น วัสดุห่อหุ้มอาหาร เครื่องครัวที่เป็นพลาสติก ผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ชุดกันเปื้อน กระเป๋า เป้สะพานหลัง (เคลือบพีวีซีกันน้ำ) รองเท้าบูท เสื้อผ้าชั้นในสตรี เสื้อกันฝน กระโปรง รองเท้า เป็นต้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทางการแพทย์ ได้แก่ ถุงใส่เลือด สายหรือท่อสำหรับสอดเข้าร่างกาย ถุงมือ หลอดต่าง ๆ เป็นต้น

กลุ่มรถยนต์ ได้แก่ ที่นั่งสำหรับเด็ก แผงหน้าปัด บานประตู กรวยจราจร ผ้าปูเบาะ เคลือบสายไฟ เคลือบตัวถัง เป็นต้น

กลุ่มวัสดุอาคาร ได้แก่ กรอบประตู รั้ว พื้น ท่อ กระเบื้อง วัสดุปูผนัง กรอบหน้าต่าง บานเกล็ดหน้าต่าง ฉนวนสายไฟสายเคเบิล เป็นต้น และนอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อีกมากมายทั้งผลิตภัณฑ์สำนักงาน บรรจุภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ

พีวีซีอันตรายอย่างไร

พีวีซีเป็นพลาสติกที่มีพิษมากที่สุดในโลก สามารถก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้ทุกขั้นตอนในวงจรชีวิตของพีวีซี

อันตรายตอนใช้ : สารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพพีวีซี เช่น สารพลาสติกไซเซอร์และสารอื่น ๆ ได้แก่ พาทาเลท สารแต่งสีซึ่งมีตะกั่วและแคดเมียม สารทำให้คงตัว (stabilizers) เช่น แบเรียม สามารถแพร่กระจายออกมาจากพีวีซีได้ ในกรณีที่ใช้ใส่หรือห่อหุ้มอาหารสารเหล่านี้สามารถปนเปื้อนในอาหารได้

อันตรายตอนเผาทำลาย : เมื่อพีวีซีซึ่งมีคลอรีนเป็นองค์ประกอบเผาไหม้จะให้ก๊าซที่เป็นกรด สารพิษไดออกซิน และสารออกาโนคลอรีนอื่น ๆ การเผาพีวีซี 1 กิโลกรัมจะให้ไดออกซินออกมามากเพียงพอที่จะทำให้สัตว์ทดลอง 50,000 ตัวเกิดมะเร็ง ในควันที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้จะมีไฮโดรเจนคลอไรด์ ซึ่งรวมตัวกับความชื้น (น้ำ) ได้เป็นกรดไฮโดรคลอริกซึ่งมีฤทธ์กัดกร่อนสูง

อันตรายในขั้นตอนรีไซเคิลและผลิต : มีรายงานการศึกษาที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานในโรงผลิตไวนิลคลอไรด์และการเพิ่มขึ้นของโรคต่าง ๆ ได้แก่ มะเร็งตับชนิดที่พบไม่บ่อย มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งระบบน้ำเหลือง และตับแข็ง ในกระบวนการรีไซเคิลด้วยวิธีทางกล พบว่ามีปัญหาการแพร่กระจายของสารเติมแต่งที่ใส่เพื่อปรับคุณภาพพีวีซีได้แก่ ตะกั่ว แคดเมียม และสารกลุ่มพีซีบี นอกจากส่งผลลบต่อคนงานแล้วยังพบว่ามีไวนิลคลอไรด์ระบายสู่บรรยากาศโดยรอบโรงงานด้วย เช่นโรงงานในหลุยส์เซียน่า สหรัฐอเมริกา ที่พบว่ามีปริมาณไวนิลคลอไรด์ระบายสู่บรรยากาศสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศถึง 120 เท่า ในประเทศไทยเองมีโรงงานผลิตไวนิลคลอไรด์และพีวีซีตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง 5 แห่ง ผลการตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษระหว่างปี พ.ศ. 2550 พบว่ามีสารไวนิลคลอไรด์ และเอทิลีนไดคลอไรด์ (สารตั้งต้นผลิตไวนิลคลอไรด์) เจือปนอยู่ในบรรยากาศบริเวณนั้นเช่นกัน

ทางเลือก

ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้พีวีซีจำนวนมาก เช่น วัสดุก่อสร้างอาคารที่ปราศจากพีวีซี เป็นต้น ดูรายละเอียดวัสดุทดแทนได้ที่ลิงก์ต่อไปนี้

http://www.healthybuilding.net/pvc/alternatives.html

http://archive.greenpeace.org/toxics/pvcdatabase/productalt.html

http://www.pvcinformation.org/links/index.php?catid=2

I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION

-------------------------------------

เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India


http://www.besafenet.com/pvc/pvcproducts.htm

http://www.besafenet.com/pvc/plants.htm

http://www.pcd.go.th/Info_serv/pol_maptapoot_airnd.html


วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551

พลาสติกในชีวิตประจำวัน (1) : โพลีสไตรีน


โพลีสไตรีน (Polystyrene, PS) เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาจากสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากปิโตรเลียม ถูกผลิตออกขายครั้งแรกในช่วงปี 1930 - 1939 ช่วงแรกสไตรีนที่ผลิตขึ้นมาถูกนำไปใช้ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 เป็นหลัก หลังจากสงครามจบลงจึงเปลี่ยนมาผลิตเป็นพลาสติกโพลีสไตรีนออกขายแทน ในการผลิตโพลีสไตรีนยังมีวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมด้วยได้แก่ เบนซีน เอทิลีน และบิวทาไดอีน

โพลีสไตรีนเป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก คือหลอมเป็นของเหลวได้ โดยที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ในสถานะของแข็ง แต่จะหลอมละลายเมื่อทำให้ร้อนและแข็งตัวเมื่อเย็นลง โพลีสไตรีนแข็งที่บริสุทธิ์จะไม่มีสี ใส แต่สามารถทำเป็นสีต่าง ๆได้ และยืดหยุ่นได้จำกัด

โพลีสไตรีนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เรียกว่า expanded polystyrene (EPS) เป็นชนิดที่ได้จากการผสมโพลีสไตรีนร้อยละ 90-95 กับสารทำให้ขยายตัว (ที่ใช้กันมากคือเพนเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อก่อนใช้ ซีเอฟซี ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นโอโซน) ร้อยละ 5-10 พลาสติกที่เป็นของแข็งถูกทำให้เป็นโฟมโดยการใช้ความร้อน (มักเป็นไอน้ำ) โพลีสไตรีนอีกชนิดหนึ่งคือ Extruded polystyrene (XPS) มีชื่อทางการค้าที่แพร่หลายคือ Styrofoam เป็นชนิดที่มีการเติมอากาศไว้ในช่องว่างตามเนื้อโฟมทำให้มีค่าการนำความร้อนต่ำ ใช้ในงานก่อสร้าง และใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในอาคาร และยังมีชนิดที่เป็นแผ่นเรียกว่า Polystyrene Paper Foam (PSP) ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร เช่นกล่องหรือถาดใส่อาหาร

กระบวนการผลิตโพลีสไตรีนปลดปล่อยสารพิษอะไรบ้าง สารพิษที่ปลดปล่อยออกมาในระหว่างการผลิตโพลีสไตรีนได้แก่

1. เบนซีน (เป็นสารก่อมะเร็ง)

2. สไตรีนโมโนเมอร์ (เป็นสารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง)

3. 1,3-บิวทาไดอีน (เป็นสารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง)

4. คาร์บอนเตตระคลอไรด์ ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองและสงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็งในคน)

5. โครเมี่ยม (6) ออกไซด์ ก่อให้เกิดมะเร็งและการกลายพันธุ์ในสัตว์ทดลอง

มีรายงานการตรวจพบว่าคนงานที่ทำงานในโรงงานสไตรีนและโพลีสไตรีนมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับการทำงานของปอด ทำลายโครโมโซม และเป็นมะเร็งเพิ่มมากขึ้น

อะไรบ้างที่ทำจากโพลีสไตรีน

- แก้วโฟมที่ใช้แล้วทิ้ง ที่ค้นพลาสติก จานหรือถาดพลาสติกใส่อาหาร

- โฟมที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นบรรจุภัณฑ์กันกระแทกสำหรับใส่ขวดไวน์ ผลไม้ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

- วัสดุช่วยพยุงให้ลอยน้ำ

- แผ่นฉนวนกันความร้อนในอาคาร

- อื่น ๆ เช่น ไม้บรรทัด ไม้แขวนเสื้อ ม้วนวีดีโอ ตลับเทป เป็นต้น


ข้อควรระวัง

1. การใช้ภาชนะโฟมพลาสติก EPS ใส่อาหารที่ร้อน เช่นกาแฟร้อน การค้นกาแฟร้อน ๆ ด้วยแท่งคนที่ทำจากพลาสติก EPS หรือการที่โฟมสัมผัสกับกรดเช่น้ำมะนาว หรืออาหารที่มีวิตามิน เอแล้วนำไปเข้าไมโครเวฟ ก็สามารถทำให้สไตรีนโมโนเมอร์ในโฟมพลาสติกละลายออกมาผสมในอาหารได้

2. การเผาโฟมพลาสติกโพลีสไตรีนทำให้เกิดก๊าซพิษสไตรีนออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของของมะเร็ง

3. การรีไซเคิลโฟมโพลีสไตรีนมีปัญหาในเรื่องไม่คุ้มทุนเป็นสำคัญ เนื่องจากคุณภาพของพลาสติกที่รีไซเคิลได้จะต่ำลงกว่าก่อนผ่านการรีไซเคิล ดังนั้นพลาสติกที่รีไซเคิลได้จึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ต้องทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพลงไป เช่นโฟมบรรจุอาหารไม่สามารถรีไซเคิลกลับมาใส่อาหารได้อีก ต้องนำไปทำเป็นโฟมกันกระแทก ฉนวนฝาผนัง ถาดในโรงอาหาร เป็นต้น ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องใช้เพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านต่าง ๆ เข้าไปอีก

ทางเลือก

หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์โฟมโพลีสไตรีนโดยใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน เช่นเลิกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นโฟม เป็นต้น


I AM THE PROBLEM
I AM THE SOLUTION



เอกสารอ้างอิง :

Chintan Environmental Research and Action Group, 2007. Plastic: A treat to mankind, National Book Trust, India

จิราวรรณ หาญวัฒนกุล, เมษายน 2550. โฟมพลาสติกชนิดพอลิยูรีเทนและพอลิสไตรีน http://www.dss.go.th/dssweb/st-articles/files/bla_4_2550_foams.pdf

http://en.wikipedia.org/wiki/Polystyrene

http://www.ejnet.org/plastics/polystyrene/nader.html

http://www.ejnet.org/plastics/polystyrene/disposal.html#recycling