วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย มีปัญหาเพราะการมีส่วนร่วมไม่มากพอ



การโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552 ที่ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชสมุนไพร 13 ชนิด ที่สามารถใช้ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 รวมทั้งการยกเลิกการควบคุมซัลเฟอร์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่าการออกกฎหมายตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีขั้นตอนกระบวนการที่ยังตามไม่ทันกับบริบทสังคมปัจจุบันที่ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายอย่างกว้างขวางเพียงพอนั่นเอง
ความเป็นมาในกรณีพืชสมุนไพรนั้น กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบได้ชี้แจงว่าที่ออกประกาศรายการนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเป็นการลดการใช้สารเคมีได้ทางหนึ่ง แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2 ซึ่งผู้ที่จะผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครองต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งดำเนินการ ทำให้ผู้ที่จะผลิตประสบปัญหายุ่งยากในขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เพราะไม่มีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการขึ้นทะเบียน ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงช่วยเหลือด้วยการลดการควบคุมลงมาเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 แทน โดยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 มีมาตรการควบคุมเพียงแจ้งข้อเท็จจริงเท่านั้น และที่เลือกพืช 13 ชนิดนี้ก็เพราะกรมวิชาการเกษตรมีการศึกษาทางวิชาการรองรับแล้ว และที่ไม่ยกเลิกการควบคุมไปเลย เพราะต้องการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีผลิตภัณฑ์ปลอมออกมาขายจำนวนมาก จึงยังต้องคุมต่อไปเพื่อดูแลเรื่องคุณภาพ สำหรับข้อกังวลของสังคมที่เกิดขึ้นนั้น กรมวิชาการเกษตรมองว่าเป็นเรื่องของภาษาและการสื่อสารทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน การใช้คำว่าวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นคำตามกฎหมายทำให้ดูน่ากลัว ดูว่าพืชสมุนไพรเหล่านั้นเป็นของอันตราย และจะทำการทบทวนในเรื่องถ้อยคำและการสื่อสารและการรับฟังความคิดเห็นต่อไป
ส่วนกรณียกเลิกการควบคุมซัลเฟอร์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งมีประเด็นว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีลักลอบนำเข้าซัลเฟอร์ที่สำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกรมศุลกากรกำลังดำเนินคดีหรือไม่ เพราะเป็นคดีใหญ่ มีค่าปรับเป็นเงินจำนวนหลายพันล้านบาท กรอ. ชี้แจงแต่เพียงว่าปกติสารซัลเฟอร์จะถูกควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น เมื่อครั้งจะออกประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2549 กรมวิชาการเกษตรได้เสนอให้ กรอ. คุมซัลเฟอร์ด้วย เนื่องจากพบว่ามีการลักลอบนำเข้าซัลเฟอร์มาใช้เป็นสารป้องกันเชื้อรา โดยอ้างว่านำมาใช้ทางอุตสาหกรรม จึงได้มีการประกาศให้ซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คุมโดย กรอ. ในประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2549 ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 กรอ. ได้ขอยกเลิกการควบคุมสารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย โดยให้เหตุผลว่าซัลเฟอร์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมเป็นคนละสถานะกันกับซัลเฟอร์ที่ใช้ในทางเกษตร และซัลเฟอร์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมมีกฎหมายโรงงานและประกาศกระทรวงมหาดไทยควบคุมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงการยกเลิกการควบคุมซัลเฟอร์ในประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2552 ดังกล่าว
ด้านคดีความนั้น สภาอุตสาหกรรมชี้แจงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนำเข้าซัลเฟอร์อย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่ประกาศฉบับที่ 5 มีผลบังคับใช้ โดยได้ผ่านขั้นตอนตามพิธีการศุลกากรอย่างที่เคยปฎิบัติ จนเมื่อเดือนกันยายน 2551 จึงมีการตรวจค้นและกล่าวหาว่าผู้ประกอบการนำเข้าสินค้ามาอย่างผิดกฏหมายและมีโทษปรับสูงสุด 4 เท่าของมูลค่าสินค้า คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณหมื่นล้านบาท

มีปัญหาเพราะการมีส่วนร่วมไม่มากพอ
จากความเป็นมาข้างต้นจะเห็นว่าส่วนหนึ่งและน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาคือ การมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไม่เพียงพอ ในกรณีของพืชสมุนไพรเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการละเลยการมีส่วนร่วมของสาธารณะ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพร ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยอย่างมาก หากเปิดให้สาธารณะรับรู้เรื่องราวมาตั้งแต่ต้นกรณีความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องถ้อยคำ “วัตถุอันตราย” น่าจะน้อยลงเพราะได้มีการถกเถียงทำความเข้าใจร่วมกันมาก่อนหน้าแล้ว และอาจมีข้อเสนอแนะทางเลือกอื่นที่น่าสนใจ เช่น
o น่าจะใช้ชื่อ “ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ได้จากพืช 13 ชนิดดังนี้ สะเดา......ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี” แทนคำที่ประกาศคือ “ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำมาใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย......” การเน้นที่คำว่าผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช... มาก่อนสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงความเป็นอันตรายได้ง่ายกว่า
o ในอดีตควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ยังพบผลิตภัณฑ์ปลอมด้อยคุณภาพ ถ้าผ่อนคลายการควบคุมจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร การขึ้นทะเบียนเป็นขึ้นตอนเพื่อประเมินว่าผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพการใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่และการใช้มีความปลอดภัยหรือไม่ การขึ้นทะเบียนจึงจำเป็นในสถานการณ์การควบคุมในปัจจุบันของประเทศเรา อย่างไรก็ดี หน่วยงานรับผิดชอบสามารถออกประกาศให้ใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของกรมวิชาการเกษตรแทนได้ เพื่อทำให้การขึ้นทะเบียนง่ายขึ้น และในกรณีผลิตภัณฑ์มีปัญหาจะมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดได้หนักกว่ากรณีเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1
o ไม่ว่าในกรณีเกษตรกรที่ผลิตใช้และขายจำนวนไม่มากควรต้องกำหนดหลักเกณฑ์ยกเว้นไว้ เช่น
o ถ้ากำหนดให้ “ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำมาใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย......” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ก็ต้องยกเลิกรายการเดิมที่ประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ด้วย แล้วประกาศเป็นวัตถุอันตรายกลับเข้ามาใหม่โดยตัดเอาผลิตภัณฑ์จากพืช 13 ชนิดนี้ออก ไม่อย่างนั้นจะเป็นว่าผลิตภัณฑ์จากพืช 13 ชนิดนี้จะถูกคุมเป็นวัตถุอันตรายทั้งชนิดที่ 2 และ 1 ในเวลาเดียวกัน แล้วจะทำอย่างไรดี

ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังไม่มีส่วนร่วม
กรณียกเลิกซัลเฟอร์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นผลเสียของการไม่เปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงได้แสดงความคิดเห็นก่อนตัดสินใจออกประกาศ กล่าวคือ หากก่อนจะประกาศให้ซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ในประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 5 กรอ. มีการเชิญผู้เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทที่ใช้ซัลเฟอร์ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมาให้ความเห็นก่อน เหตุผลในเรื่องสถานะของซัลเฟอร์ที่แตกต่างกันสำหรับการใช้งานทางอุตสาหกรรมและทางเกษตรก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาตั้งแต่ต้น และการประกาศครั้งนั้นก็จะไม่สร้างปัญหาจนต้องมีการยกเลิกการควบคุมในภายหลัง
นอกจากประเด็นการไม่เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการไม่ประเมินผลกระทบและลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ กรอ. ควรรู้ว่าซัลเฟอร์เป็นสารเคมีพื้นฐานที่มีการใช้อย่างกว้างขว้างในวงการอุตสาหกรรม ดังนั้นเมื่อประกาศฯ ออกมาแล้ว กรอ. จึงควรเผยแพร่ข้อมูลไปยังผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงเพียงพอซึ่งเป็นสิ่งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมสามารถกระทำได้เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับผู้ประกอบการ และให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวปฏิบัติตามข้อบังคับได้ทันท่วงที
ปัจจุบันการกำหนดนโยบายหรือกฎหมายจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเพียงพอและโปร่งใส เพื่อให้นโยบายหรือกฎหมายนั้นผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้าน ตัวอย่างเช่นในประชาคมยุโรป หรือ EU นั้น ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในเรื่องการจัดการสารเคมีอย่างมาก ซึ่งเห็นได้จากการกำหนดเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะไว้ในกฎหมายควบคุมสารเคมีด้วย เช่น ในกรณีสารที่ต้องขออนุญาตและจำกัดการใช้ที่หน่วยงานกลางต้องประกาศรายชื่อออกมานั้น มีข้อกำหนดให้เปิดเผยร่างเพื่อระดมความเห็นจากสาธารณะก่อนที่จะประกาศบังคบใช้ ขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นเช่นนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายอาจนำมาเป็นแนวทางสำหรับประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายได้ทันที เพราะแม้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายจะไม่กำหนดในเรื่องการมีส่วนร่วมไว้ แต่ก็มิได้ห้ามไว้เช่นกัน การมีส่วนร่วมนอกจากจะทำให้บัญชีวัตถุอันตรายที่จะประกาศได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ยังเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานรับผิดชอบอีกด้วย

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

สายเกินไปไหม? จดหมายที่ยาวที่สุดที่ฉันเคยเขียน


สายเกินไปไหม?
จดหมายที่ยาวที่สุดที่ฉันเคยเขียน

นี่เป็นชื่อหนังสือที่ขอแนะนำค่ะ คนเขียนเป็นแม่บ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งในญี่ปุ่นชื่อ แทโกะ กันชา เธอเขียนเล่าความกังวลและความห่วงใยที่มีต่อการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เพื่อน ๆ ของเธอได้รับทราบ จดหมายฉบับนี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษมาก่อนแล้ว สำหรับฉบับภาษาไทยได้รับการแปลโดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ และจัดพิมพ์โดยกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม หลังสือเล่มนี้ถูกแจกจ่ายไปตามห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ลองอ่านเนื้อหาบางส่วนจากจดหมายขนาดยาวเล่มนี้ค่ะ


ทำไมโลกเราทุกวันนี้น่าเศร้าจัง

ในอดีต มีหรือที่แม่จะใส่ยาพิษในอาหารทุกมื้อที่ปรุงสำหรับครอบครัว เป็นไปได้หรือที่แม่จะใส่ยาพิษลงไปในอาหาร ยาพิษซึ่งจะเป็นอันตรายในระยะยาวและค่อย ๆ บั่นทอนสุขภาพของครอบครัว แต่นี่เป็นสิ่งที่แม่ๆ กำลังทำโดยไม่ตระหนักถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้น

นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรมเชอร์โนบิล (Chernobyl) แม่ ไม่มีทางเลือกที่จะทำอะไรได้ นอกจากพยายามเลือกสรรอาหารซึ่งมีสารพิษน้อยที่สุด การจัดเตรียมอาหารที่น่าจะเป็นเรื่องของความรื่นรมย์และความสุขกลับกลายเป็น งานอันน่าเบื่อและทำให้แม่รู้สึกผิด แต่เราก็ต้องกินอาหารเพื่อให้มีชีวิตต่อไป ไม่ใช่เรื่องน่าตลกแกมเศร้าหรอกหรือที่แม่ถูกบังคับให้ปรุงอาหารซึ่งจะบั่น ทอนชีวิตของคนในครอบครัวตนเอง

ใครจะนึกว่าวันหนึ่งเราต้องมากินอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารสังเคราะห์และสาร กัมมันตรังสีอันตราย เรารู้ดีว่าภายหลังเกิดโศกนาฏกรรมที่เชอร์โนบิล แม่ซึ่งอยู่ในสหภาพโซเวียตและยุโรปต่างเศร้าเสียใจมากเพียงใด และทุกวันนี้พวกเราแม่ๆ ชาวญี่ปุ่นต้องตกอยู่ในความเศร้าเช่นเดียวกันนั้น ผลกระทบที่สำคัญจากอุบัติเหตุดังกล่าวเริ่มปรากฏขึ้นที่นี่แล้ว

ในระหว่างที่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์เชอร์โนบิล สารกัมมันตรังสีจำนวนมากหลายพันล้านคูรีแพร่กระจายออกไป สารกัมมันตรังสีลอยตามกระแสลมเป็นระยะทาง 8,000 กิโลเมตรจนถึงญี่ปุ่น ส่งผลให้สาหร่ายทะเล ทุ่งหญ้า น้ำนม และสิ่งอื่นๆ ในญี่ปุ่นปนเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสี แม่ซึ่งทราบว่าน้ำนมของเธอปนเปื้อนเอาแต่ร้องไห้ด้วยความขมขื่น เพราะที่ผ่านมาเธอเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองมาตลอด เธอทราบดีว่าน้ำนมของเธอปนเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสี และลูกของเธอน่าจะได้รับผลกระทบ

สารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ตามข้อมูลที่สำรวจในแม่น้ำโคลัมเบียในรัฐวอชิงตันและโอเรกอน สหรัฐฯ สมมติว่ามีสารกัมมันตรังสีในน้ำ 1 หน่วย ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 หน่วยเมื่อแพร่เข้าไปในแพลงตอน 15,000 หน่วยเมื่อแพร่เข้าไปในปลา 40,000 หน่วยเมื่อเป็ดกินปลาตัวนั้นเข้าไป และเมื่อแม่เป็ดวางไข่ จำนวนสารกัมมันตรังสีจะเพิ่มขึ้นถึงล้านเท่า และถ้าคนเรากินไข่เหล่านั้นเข้าไป มันจะเพิ่มจำนวนอีกเท่าไร มันจะมากมายมหาศาลเพียงใด?

เมื่อร่างกายย่อยสลายอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี สารเหล่านั้นจะแพร่กระจายเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายและแพร่รังสีออกมาพร้อมๆ กับทำลายเซลล์ในร่างกาย

ไอโอดีน 131 สะสมในต่อมไทรอยด์และกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนของต่อม ไอโอดีน 131 มีอายุครึ่งชีวิตแปดวัน (อายุครึ่งชีวิตหมายถึงช่วงเวลาที่สารกัมมันตรังสีลดทอนจำนวนลงไปครึ่งหนึ่ง ตามธรรมชาติ สารแต่ละชนิดจะมีอายุครึ่งชีวิตต่างกัน สำหรับไอโอดีนจะมีอายุครึ่งชีวิตแปดวัน หมายถึงว่าเมื่อผ่านไปแปดวันจะมีจำนวนลดลงครึ่งหนึ่ง อีก 16 วันก็จะลดลงไปอีกครึ่งหนึ่ง หรือเหลือเพียงหนึ่งในสี่ของสารจำนวนเดิม สารกัมมันตรังสีจะลดจำนวนครึ่งหนึ่งไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยหมดโดยสิ้นเชิง)

พลูโตเนียม 239 สะสมในปอดและเป็นสาเหตุของมะเร็งปอด มันมีอายุครึ่งชีวิตถึง 24,000 ปีทีเดียว! ในช่วงเวลาดังกล่าวสารจะปล่อยกัมมันตรังสีออกมาเรื่อยๆ

สตรอนเทียม 90 สะสมในกระดูกและเป็นสาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว อายุครึ่งชีวิตของมันคือ 28 ปี

โคบอลต์ 60 สะสมในตับและเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ มีอายุครึ่งชีวิต 5 ปี

ซีเซียม 137 สะสมในอวัยวะสืบพันธุ์และเป็นสาเหตุของการเป็นหมันและความผิดปกติด้าน ฮอร์โมน อาจส่งผลให้ทารกคลอดออกมาด้วยอาการพิการอย่างรุนแรง ซีเซียม 137 มีอายุครึ่งชีวิต 30 ปี พอๆ กับอายุในวัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง

เมื่อแปดปีก่อนได้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนเกาะทรีไมล์ (Three Mile Island) และในวันที่ 27 มีนาคมปีนี้ คุณแมรี่ ออสบอน ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะแห่งนี้ 9 กิโลเมตร เดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อเล่าเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น เธอก็เป็นคุณแม่ลูกสอง

เธอบอกว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบนั้นหลายคนต้องประสบกับปัญหาความผิดปกติด้าน สุขภาพ มีรายงานผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเพิ่มขึ้น ถึงขั้นที่ว่ามีผู้เสียชีวิตในครอบครัวเดียวกันถึงหกคน คุณออสบอนและคนอื่นๆ ซึ่ง แม้จะไม่ใช่นักเคลื่อนไหวหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ต่างเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผิดปกติ และพยายามสอบสวนหาสาเหตุด้วยตนเอง

การสอบสวนทำให้ทราบว่า สาเหตุมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พวกเขาส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลแห่งรัฐเพื่อขอให้มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการ แต่ความพยายามไม่ได้ผล รัฐบาลปฏิเสธข้อมูลที่พวกเขารวบรวม โดยบอกว่าเป็นข้อมูลซึ่งไม่สามารถเชื่อถือได้ในทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาประกาศว่าสุขภาพของประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ อย่างมากก็มีแค่ความเครียดในใจ

ลอง คิดดูสิว่าฉันตกใจแค่ไหนที่เกิดเรื่องแบบนี้ในประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐ อเมริกา มันจะเป็นยังไงนะถ้าหากเกิดเรื่องแบบเดียวกันนี้ในประเทศญี่ปุ่น

........... ... ... . . .

ใครสนใจลองไปหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วไปหรือติดต่อซื้อที่ cainthai@gmail.com ค่ะ


ของเสียอันตรายจากบ้านเรือน... อันตรายถ้าจัดการไม่ถูกวิธี


เวลาที่ผลิตภัณฑ์ตามบ้านเรือนที่มีความเป็นอันตรายถูกใช้จนหมดแล้วหรือไม่ ใช้แล้วจะกลายเป็นของเสียอันตรายและถูกทิ้งรวมไปพร้อมกับขยะทั่วไป การกำจัดแบบขยะทั่วไปไม่สามารถใช้กำจัดของเสียอันตรายได้ การจัดการที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

อันตรายถ้ากำจัดไม่ถูกวิธี

ปกติการจัดการขยะทั่วๆ ไปจากบ้านเรือนมีขั้นตอนคือ เมื่อเจ้าของขยะนำขยะมาทิ้งในภาชนะรองรับที่หน่วยงานรับผิดชอบ เช่น เทศบาล หรือ อบต. จัดไว้ให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะมาเก็บขยะใส่รถไปยังสถานีรวมหรือสถานที่กำจัด ซึ่งมักเป็นหลุมฝังกลบขยะ หลุมฝังกลบขยะทั่วไปได้รับการออกแบบให้ฝังกลบขยะทั่วไปได้อย่างปลอดภัยเท่า นั้น

ถ้ามีขยะหรือของเสียอันตรายถูกทิ้งรวมไปกับของเสียทั่วไป อาจเกิดอันตรายหรือปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในระหว่างขั้นตอนการเก็บขนและ การกำจัด เช่น ถ้ามีหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ถูกทิ้งรวมไปด้วย หลอดไฟอาจแตกหักระหว่างขนถ่ายเข้า-ออกจากรถขนขยะ หรือขณะฝังกลบ ปรอทที่เจือปนอยู่สามารถแพร่กระจายเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากหลุ่มฝังกลบขยะทั่วไปไม่สามารถป้องกันการซึมผ่านของสารได้ จากนั้นปรอทจะถูกย่อยสลายกลายเป็นสารพิษ (ปรอทอินทรีย์) สารพิษนี้เมื่อเข้าสู่สิ่งมีชีวิตจะสามารถเพิ่มปริมาณสะสมขึ้นได้อย่างมาก เมื่อมีการกินต่อ ๆ กันตามห่วงโซ่อาหาร ซึ่งจะมาสิ้นสุดที่คนที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การได้รับปรอทอินทรีย์อาจทำให้มีอาการคันหรือชา ประสาทสัมผัสทำงานผิดปกติ สั่น เดินลำบาก ถ้าได้รับเป็นเวลายาวนานสามารถก่อให้เกิดโรคมินามาตะได้

ถ้าเททิ้งลงท่อทางอ่างน้ำหรือชักโครก ของเสียอันตรายจะไหลไปยังถังบำบัดน้ำเสียของบ้าน ของเสียบางชนิดสามารถฆ่าจุลินทรีที่ทำหน้าที่ย่อยปฏิกูลและน้ำเสีย ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียทำงานไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ของเสียอันตรายบางชนิดไม่ถูกย่อยสลายที่ถังบำบัดและจะปนเปื้อนไป กับน้ำทิ้งที่ออกจากถังบำบัดเข้าสู่แหล่งรองรับธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะปนเปื้อนลงสู่ระบบน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ การเทผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนลงท่อจะทำให้ท่อผุกร่อนได้

การกำจัดของเสียอันตรายจากบ้านเรือนโดยการกองเผาเป็นสาเหตุของมลพิษอากาศ ควันไฟที่เกิดขึ้นอาจเป็นควันพิษ โดยเฉพาะการเผาพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจระเบิดได้ เช่นกระป๋องสเปรย์ ขี้เถ้าที่เหลืออยู่ก็ปนเปื้อนด้วยสารพิษเช่นกัน

แนวทางการจัดการ

การจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนนั้นมีแนวทางสำหรับประชาชนซึ่งเกี่ยว ข้องในฐานะผู้ก่อกำเนิด และหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนดังนี้

สำหรับประชาชน :

- ซื้อผลิตภัณฑ์อันตรายมาใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

- ซื้อแค่พอดีใช้

- มองหาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์แบบเดียวกันแต่มีอันตรายน้อยกว่ามาใช้แทน

- ก่อนใช้ต้องอ่านฉลากให้เข้าและปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก

- ต้องเก็บไว้ให้ห่างจากเด็ก

- ควรดูแลให้ฉลากอยู่ในสภาพใช้งานได้ ไม่หลุดหรือขูดขาดจนอ่านไม่ได้

- ควรเก็บผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นของเสียแล้วไว้ในภาชนะบรรจุเดิมและปิดฝาให้แน่น

- แยกของเสียอันตรายที่รีไซเคิลได้

- เก็บไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่มารวบรวมจากที่พักอาศัย

- ไม่แบ่งผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีใส่ภาชนะอื่นโดยเฉพาะภาชนะสำหรับใส่อาหารและน้ำดื่ม

- ไม่นำภาชนะบรรจุสารกำจัดแมลงหรือสารเคมีอื่นๆ มาใช้อีก

- ไม่ผสมของเสียอันตรายหลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกัน

- ไม่กองเผาหรือเททิ้งของเสียอันตรายลงพื้นดิน

- ไม่เททิ้งของเสียอันตรายลงอ่างน้ำหรือชักโครก

สำหรับหน่วยงานท้องถิ่น (ได้รับอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535) :

- สร้างศักยภาพด้านการรีไซเคิลและกำจัดของเสียอันตรายจากบ้านเรือนของท้องถิ่น ถ้าในท้องถิ่นไม่มีโรงงานรีไซเคิลหรือสถานที่กำจัด หน่วยงานรับรับผิดชอบต้องหาแนวทางสร้างเครือข่ายหรือเป็นตัวกลางเชื่อมโยง ระหว่างประชาชนและโรงงานรีไซเคิล รวมทั้งติดต่อสถานที่กำจัดที่อยู่ในวิสัยที่สามารถส่งของเสียอันตรายไป จัดการได้ เพื่อให้ของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นได้รับการจัดการอย่างถูกต้องปลอดภัยมาก ที่สุด

- ชี้แจงให้ประชาชนทราบทั่วกันถึงขั้นตอนและวิธีการคักแยก จัดเก็บ และการส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือกำจัดทิ้ง ของเสียอันตรายชนิดใดที่สามารถรีไซเคิลได้ ของเสียชนิดนั้นก็ควรถูกแยกออกมาและส่งไปรีไซเคิล ของเสียอันตรายที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะต้องแยกและส่งไปกำจัดด้วยวิธีการ ที่ปลอดภัย เช่น ไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบของเสียอันตราย เป็นต้น

- วางแผนและจัดให้มีการดำเนินงานจัดเก็บของเสียอันตรายจากบ้านเรือนโดยเฉพาะ ตามที่ได้แจ้งประชาชนไว้ โดยหน่วยงานรับผิดชอบเป็นผู้จัดเก็บเองหรือให้อนุญาตโรงงานรีไซเคิลมาจัด เก็บเองก็ได้ในกรณีของเสียอันตรายที่สามารถรีไซเคิลได้

- จัดสรรงบประมาณ บุคคลากร พร้อมทั้งส่งเสริมให้การจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนอย่างถูกต้องให้ เกิดความยั่งยืน โดยพิจารณาใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งภาคบังคับและสมัครใจที่เหมาะสม

- เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงพิษภัยต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง :

A.L. Choi and P. Granjean, Environ. Chem. 2008, 5, 112-120. (http://www.publish.csiro.au/?act=view_file&file_id=EN08014.pdf)

Disposal of Hazardous Household Waste (www.cdc.gov/docs/d001201-d001300/d001236/d001236.html)

LA County DPW Household Hazardous Waste Guide (http://dpw.lacounty.gov/epd/hhw/)

Ohio State University Fact Sheet, Disposal of Household Hazardous Materials (http://ohioonline.osu.edu/cd-fact/0102.html)

คู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อปท. ในการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน (http://infofile.pcd.go.th/haz/Guideline_communitywaste.pdf)

รู้จักของใช้อันตรายในบ้าน

บทความนี้เผยแพร่ที่นี่และที่เว็บไซต์ http://www.chemtrack.org ด้วยค่ะ >..<

ที่บ้าน... เรามีของใช้มากมายหลากหลายชนิดเพื่อช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสะดวก สบาย ในของใช้เหล่านี้จะมีจำนวนมากที่มีสารเคมี การมีสารเคมีเจือปนอยู่ด้วยทำให้เราต้องระวัง เพราะจะเกี่ยวข้องกับความเป็นอันตรายที่สารเคมีนั้นพาติดตัวมาด้วย ความเป็นอันตรายที่มักพบได้แก่

• เป็นพิษ ทั้งที่ปรากฎอาการทันทีและที่อาการปรากฎเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษได้แก่ ยาฆ่าแมลง ทินเนอร์ น้ำยาทำความสะอาดบางชนิด

• ไวไฟ ลุกติดไฟได้ง่าย ตัวอย่างเช่น สี ทินเนอร์ หรือตัวละลายอื่น ๆ

• กัดกร่อน สามารถกัดวัสดุต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดเตาอบ ผลิตภัณฑ์ขจัดสิ่งอุดตันในท่อ น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ แบบเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น

• เกิดปฏิกริยาได้ง่าย เช่นสามารถลุกไหม้ได้เอง หรือเกิดไอหรือควันพิษได้เมื่อผสมกับผลิตภัณฑ์อื่น หรือระเบิดได้เมื่อถูกความร้อนหรือถูกกระแทก ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ได้แก่ พลุ ดอกไม้ไฟ

จะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์อันตรายหรือไม่

• อ่านฉลากที่ติดกับภาชนะบรรจุ และมองหาคำว่า คำเตือน อันตราย เป็นพิษ ซึ่งมักจะข้อความระบุการปฏิบัติหรือวิธีการใช้ที่ถูกต้อง หรือข้อความเตือน นอกจากนี้ ยังสามารถมองหารูปสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นอันตราย ตัวอย่างข้อความและรูปที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอันตรายมีดังนี้

ข้อความ / รูป

ความเป็นอันตราย

"Harmful or fatal if swallowed" อันตรายถ้ากลืนกิน

เป็นพิษ

"Use only in a well-ventilated area" ใช้ในที่อากาศถ่ายเทเพียงพอ

เป็นพิษ

"Do not use near heat or flame" ห้ามใช้ใกล้แหล่งความร้อนหรือเปลวไฟ

ไวไฟ

"Combustible" ลุกไหม้ได้

ไวไฟ

"Do not smoke while using this product" ห้ามสูบบุหรี่ขณะใช้ผลิตภัณฑ์นี้

ไวไฟ

"Causes severe burns on contact" เกิดแผลไหม้อย่างรุนแรง

กัดกร่อน

"Can burn eyes, skin, throat" สามารถไหม้ดวงตา ผิวหนัง คอ

กัดกร่อน

"Wear gloves" ใส่ถุงมือ

กัดกร่อน

เป็นพิษ

ไวไฟ

กัดกร่อน

• ดูชนิดผลิตภัณฑ์อันตรายที่ใช้ตามบ้านเรือนจากรายการข้างล่างนี้

ผลิตภัณฑ์

สารอันตรายที่อาจผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์

อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

เครื่องปรับอากาศ

สารซีเอฟซี (คลอโรฟลูออโรคาร์บอน)

เตาอบไมโครเวฟ และอื่น ๆ


ตู้เย็น ตู้แช่

สารทำความเย็น

หลอดฟลูออเรสเซนต์

สารปรอท

ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์

แบตเตอรี่รถยนต์ ตะกั่ว
น้ำมันเบรค ไกลคอล, ไกลคอลอีเทอร์
น้ำยาทำความสะอาดคาร์บูเรเตอร์ ไฮโดรคาร์บอนที่มีคลอรีน
น้ำยากำจัดไขมัน ไฮโดรคาร์บอนที่มีคลอรีน
เครื่องดับเพลิง ชนิดผง – โซเดียมไบคาร์บอเนต, แอมโมเนียมฟอสเฟต และโปตัสเซียมไบคาร์บอเนต
ชนิดฮาลอน - โบรโมไดฟลูออกโรมีเทน
น้ำมันเชื้อเพลิง ไฮโดรคาร์บอน
น้ำมันเครื่อง ปิโตรเลียม
แบตเตอรี่
ถ่านนาฬิกา กล้อง เครื่องคิดเลข (ก้อนเล็กแบน สีเงิน) ลิเทียม
ถ่านชนิดอัลคาไลน์ โปตัสเซียมไฮดรอกไซด์, สังกะสี
ถ่านชาร์จ เช่นชนิด นิกเกิล-แคดเมียม, นิกเกิล โลหะไฮไดรด์, ลิเทียมไอออน นิกเกิล, แคดเมียม
ชนิดตะกั่วขนาดเล็ก ตะกั่ว
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
คอมพิวเตอร์ จอภาพ - ตะกั่ว
โทรทัศน์ จอภาพ - ตะกั่ว, ปรอท
กาวและซีเมนต์
ซีเมนต์ยึดเกาะ คีโตน, แนฟทา
อีพ๊อกซี เรซินของอีพ๊อกซี่และเอมีน
กาวเอนกประสงค์ โทลูอีน, สไตรีน, อะซีโตน
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ คลอรีน, แอมโมเนีย, ตัวทำละลายอินทรีย์, สารแต่งกลิ่น
แอมโมเนีย แอมโมเนีย
น้ำยาฆ่าเชื้อ ไฮโปคลอไรต์, ฟีโนลิก, แอลกอฮอล์, ควอเทอร์นารี แอมโมเนียม คลอไรด์
น้ำายาฟอกขาวที่มีคลอรีน ไฮโปคลอไรต์
ผลิตภัณฑ์ขจัดท่ออุดตัน โซเดียมไฮดรอกไซด์
น้ำยาทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ ปิโตรเลียม
น้ำยาทำความสะอาดโลหะ ปิโตรเลียม, แอมโมเนีย
น้ำยาทำความสะอาดเตาอบ โซเดียมไฮดรอกไซด์
น้ำยาขจัดสนิม กรดแก่
น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ กรด, สารฆ่าเชื้อ, ไฮโปคลอไรต์
ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงและสัตว์
ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก / มด ไดคลอวอส, คลอไพรีฟอส, โพรพ๊อกซัว, ไดอะซีนอน
ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ไดคลอวอส, ไพรีทริน
ผลิตภัณฑ์กำจัดเหา เห็บ หมัด ลินเดน
ลูกเหม็น พารา-ไดคลอโรเบนซีน, แนฟทาลีน
ยาเบื่อหนู วาฟารีน, สตริกนิน
ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช
น้ำยาฆ่าเชื้อรา แคปเทน, ไตรฟอรีน
ผลิตภัณฑ์ฆ่าหญ้า/วัชพืช 2,4-ดี, อะทราซีน, ไดคลอบีนิล
น้ำยาถนอมเนื้อไม้

ไตรบิวทิลติน, เพนตาคลอโรฟีนอล, ทองแดง, สังกะสี

สีและตัวทำละลาย
สีที่มีตะกั่ว ตะกั่ว
สีน้ำมัน เรซิน, น้ำมันแร่
สีสเปรย์ ตัวทำละลาย, โพรเพน, ซีเอฟซี
น้ำยาลอกสี เมทิลลีนคลอไรด์, โซเดียมไฮดรอกไซด์ ,โทลูอีน, อะซีโตน, เมทานอล
ทินเนอร์ เทอร์เพนทีน, น้ำมันแร่
แล็กเกอร์ เทอร์เพนทีน, แอลกอฮอล์
ผลิตภัณฑ์ส่วนตัว
สีย้อมผม แคดเมียมคลอไรด์, โคบอล์ตคลอไรด์, คิวปิกคลอไรด์, เลดอะซีเตต, ซิลเวอร์ไนเตรท
สเปรย์จัดแต่งทรงผม อะซีโตน
ยา
ยาทาเล็บ อะซีโตน
น้ำยาล้างเล็บ อะซีโตน, เอทิลอะซีเตต
อื่น ๆ
เทอร์โมมิเตอร์ชนิดใช้ปรอท สารปรอท

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะต้องมีฉลากที่ประกอบด้วยคำแนะนำวิธีการใช้ที่ปลอดภัยและ มีประสิทธิภาพการเก็บรักษาที่ถูกต้อง และการกำจัดที่เหมาะสมปลอดภัย หากผู้ใช้ไม่ทำตามคำแนะนำดังกล่าวก็อาจเกิดอันตรายขึ้นได้ทั้งต่อสุขภาพ อนามัยคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงควรอ่านฉลากให้เข้าก่อนและปฏิบัติตามคำแนะนำที่กำหนดไว้

เอกสารอ้างอิง :

Local Hazardous Waste Management Program in King County (http://www.govlink.org/hazwaste/house/index.cfm)

Ohio State University Fact Sheet, Disposal of Household Hazardous Materials (http://ohioonline.osu.edu/cd-fact/0102.html)


รูปประกอบแสดงสัญลักษณ์ ความเป็นพิษ และอันตรายจากการกัดกร่อน

ข้อความแสดงวิธีใช้ ส่วนประกอบที่สำคัญ และคำเตือน