วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

ของเสียอันตรายจากบ้านเรือน... อันตรายถ้าจัดการไม่ถูกวิธี


เวลาที่ผลิตภัณฑ์ตามบ้านเรือนที่มีความเป็นอันตรายถูกใช้จนหมดแล้วหรือไม่ ใช้แล้วจะกลายเป็นของเสียอันตรายและถูกทิ้งรวมไปพร้อมกับขยะทั่วไป การกำจัดแบบขยะทั่วไปไม่สามารถใช้กำจัดของเสียอันตรายได้ การจัดการที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

อันตรายถ้ากำจัดไม่ถูกวิธี

ปกติการจัดการขยะทั่วๆ ไปจากบ้านเรือนมีขั้นตอนคือ เมื่อเจ้าของขยะนำขยะมาทิ้งในภาชนะรองรับที่หน่วยงานรับผิดชอบ เช่น เทศบาล หรือ อบต. จัดไว้ให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะมาเก็บขยะใส่รถไปยังสถานีรวมหรือสถานที่กำจัด ซึ่งมักเป็นหลุมฝังกลบขยะ หลุมฝังกลบขยะทั่วไปได้รับการออกแบบให้ฝังกลบขยะทั่วไปได้อย่างปลอดภัยเท่า นั้น

ถ้ามีขยะหรือของเสียอันตรายถูกทิ้งรวมไปกับของเสียทั่วไป อาจเกิดอันตรายหรือปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในระหว่างขั้นตอนการเก็บขนและ การกำจัด เช่น ถ้ามีหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ถูกทิ้งรวมไปด้วย หลอดไฟอาจแตกหักระหว่างขนถ่ายเข้า-ออกจากรถขนขยะ หรือขณะฝังกลบ ปรอทที่เจือปนอยู่สามารถแพร่กระจายเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากหลุ่มฝังกลบขยะทั่วไปไม่สามารถป้องกันการซึมผ่านของสารได้ จากนั้นปรอทจะถูกย่อยสลายกลายเป็นสารพิษ (ปรอทอินทรีย์) สารพิษนี้เมื่อเข้าสู่สิ่งมีชีวิตจะสามารถเพิ่มปริมาณสะสมขึ้นได้อย่างมาก เมื่อมีการกินต่อ ๆ กันตามห่วงโซ่อาหาร ซึ่งจะมาสิ้นสุดที่คนที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การได้รับปรอทอินทรีย์อาจทำให้มีอาการคันหรือชา ประสาทสัมผัสทำงานผิดปกติ สั่น เดินลำบาก ถ้าได้รับเป็นเวลายาวนานสามารถก่อให้เกิดโรคมินามาตะได้

ถ้าเททิ้งลงท่อทางอ่างน้ำหรือชักโครก ของเสียอันตรายจะไหลไปยังถังบำบัดน้ำเสียของบ้าน ของเสียบางชนิดสามารถฆ่าจุลินทรีที่ทำหน้าที่ย่อยปฏิกูลและน้ำเสีย ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียทำงานไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ของเสียอันตรายบางชนิดไม่ถูกย่อยสลายที่ถังบำบัดและจะปนเปื้อนไป กับน้ำทิ้งที่ออกจากถังบำบัดเข้าสู่แหล่งรองรับธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะปนเปื้อนลงสู่ระบบน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ การเทผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนลงท่อจะทำให้ท่อผุกร่อนได้

การกำจัดของเสียอันตรายจากบ้านเรือนโดยการกองเผาเป็นสาเหตุของมลพิษอากาศ ควันไฟที่เกิดขึ้นอาจเป็นควันพิษ โดยเฉพาะการเผาพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจระเบิดได้ เช่นกระป๋องสเปรย์ ขี้เถ้าที่เหลืออยู่ก็ปนเปื้อนด้วยสารพิษเช่นกัน

แนวทางการจัดการ

การจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนนั้นมีแนวทางสำหรับประชาชนซึ่งเกี่ยว ข้องในฐานะผู้ก่อกำเนิด และหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนดังนี้

สำหรับประชาชน :

- ซื้อผลิตภัณฑ์อันตรายมาใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

- ซื้อแค่พอดีใช้

- มองหาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์แบบเดียวกันแต่มีอันตรายน้อยกว่ามาใช้แทน

- ก่อนใช้ต้องอ่านฉลากให้เข้าและปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก

- ต้องเก็บไว้ให้ห่างจากเด็ก

- ควรดูแลให้ฉลากอยู่ในสภาพใช้งานได้ ไม่หลุดหรือขูดขาดจนอ่านไม่ได้

- ควรเก็บผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นของเสียแล้วไว้ในภาชนะบรรจุเดิมและปิดฝาให้แน่น

- แยกของเสียอันตรายที่รีไซเคิลได้

- เก็บไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่มารวบรวมจากที่พักอาศัย

- ไม่แบ่งผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีใส่ภาชนะอื่นโดยเฉพาะภาชนะสำหรับใส่อาหารและน้ำดื่ม

- ไม่นำภาชนะบรรจุสารกำจัดแมลงหรือสารเคมีอื่นๆ มาใช้อีก

- ไม่ผสมของเสียอันตรายหลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกัน

- ไม่กองเผาหรือเททิ้งของเสียอันตรายลงพื้นดิน

- ไม่เททิ้งของเสียอันตรายลงอ่างน้ำหรือชักโครก

สำหรับหน่วยงานท้องถิ่น (ได้รับอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535) :

- สร้างศักยภาพด้านการรีไซเคิลและกำจัดของเสียอันตรายจากบ้านเรือนของท้องถิ่น ถ้าในท้องถิ่นไม่มีโรงงานรีไซเคิลหรือสถานที่กำจัด หน่วยงานรับรับผิดชอบต้องหาแนวทางสร้างเครือข่ายหรือเป็นตัวกลางเชื่อมโยง ระหว่างประชาชนและโรงงานรีไซเคิล รวมทั้งติดต่อสถานที่กำจัดที่อยู่ในวิสัยที่สามารถส่งของเสียอันตรายไป จัดการได้ เพื่อให้ของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นได้รับการจัดการอย่างถูกต้องปลอดภัยมาก ที่สุด

- ชี้แจงให้ประชาชนทราบทั่วกันถึงขั้นตอนและวิธีการคักแยก จัดเก็บ และการส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือกำจัดทิ้ง ของเสียอันตรายชนิดใดที่สามารถรีไซเคิลได้ ของเสียชนิดนั้นก็ควรถูกแยกออกมาและส่งไปรีไซเคิล ของเสียอันตรายที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะต้องแยกและส่งไปกำจัดด้วยวิธีการ ที่ปลอดภัย เช่น ไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบของเสียอันตราย เป็นต้น

- วางแผนและจัดให้มีการดำเนินงานจัดเก็บของเสียอันตรายจากบ้านเรือนโดยเฉพาะ ตามที่ได้แจ้งประชาชนไว้ โดยหน่วยงานรับผิดชอบเป็นผู้จัดเก็บเองหรือให้อนุญาตโรงงานรีไซเคิลมาจัด เก็บเองก็ได้ในกรณีของเสียอันตรายที่สามารถรีไซเคิลได้

- จัดสรรงบประมาณ บุคคลากร พร้อมทั้งส่งเสริมให้การจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนอย่างถูกต้องให้ เกิดความยั่งยืน โดยพิจารณาใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งภาคบังคับและสมัครใจที่เหมาะสม

- เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงพิษภัยต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง :

A.L. Choi and P. Granjean, Environ. Chem. 2008, 5, 112-120. (http://www.publish.csiro.au/?act=view_file&file_id=EN08014.pdf)

Disposal of Hazardous Household Waste (www.cdc.gov/docs/d001201-d001300/d001236/d001236.html)

LA County DPW Household Hazardous Waste Guide (http://dpw.lacounty.gov/epd/hhw/)

Ohio State University Fact Sheet, Disposal of Household Hazardous Materials (http://ohioonline.osu.edu/cd-fact/0102.html)

คู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อปท. ในการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน (http://infofile.pcd.go.th/haz/Guideline_communitywaste.pdf)

ไม่มีความคิดเห็น: