เมืองคาวาซากิ: อุตสาหกรรม ปัญหามลพิษ และการแก้ไข
1. ข้อมูลพื้นฐาน
เมืองคาวาซากิมีทิศเหนือติดกับเมืองโตเกียวซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศญี่ปุ่น โดยมีแม่น้ำทามะ (Tama River) เป็นตัวแบ่งเขต ส่วนทิศใต้ติดกับเมืองโยโกฮาม่า นับเป็น 3 เมืองใหญ่ที่ทันสมัยซึ่งอยู่ติดต่อกัน
เมืองคาวาซากิมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 144.35 ตารางกิโลเมตร[1] มีลักษณะคล้ายแถบยาว ๆ ขนานมากับแม่น้ำทามะ ประกอบด้วย 7 อำเภอ โรงงานผลิตสารเคมีและโรงงานอุตสาหกรรมหนักจะตั้งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำ ถัดขึ้นไปจะเป็นเขตอุตสาหกรรมเบาและพาณิชยกรรม ส่วนบริเวณที่พักอาศัยจะอยู่ทางตอนในเข้าไปอีก เมืองคาวาซากิมีประชากร ณ ปี 2553 ประมาณ 1.42 ล้านคน[2] เมืองคาวาซากิมีชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเนื่องจากเป็นเมืองที่สะอาด สะดวกสบายและปลอดภัย
2. การพัฒนาอุตสาหกรรม
หลังจากที่มีรถไฟตัดผ่านจากโตเกียวไปเกียวโตและสร้างสถานีรถไฟคาวาซากิ ทำให้มีบริษัทต่างเริ่มเข้ามาตั้งสำนักงานและโรงงานในคาวาซากิมากขึ้น เนื่องจากอยู่ในทำเลที่สะดวก จากนั้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมในคาวาซากิเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 หรือประมาณ 100 ปีที่แล้ว ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คาวาซากิถูกทำลายอย่างหนัก เนื่องจากเป็นเมืองอุตสาหกรรม หลังสิ้นสุดสงครามได้มีการออกแบบและสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหมือนที่เคยเป็นในอดีต[3]
ปัจจุบันเมืองคาวาซากิมีบริษัทต่าง ๆ ตั้งอยู่ประมาณ 2,600 แห่ง กว่าร้อยละ 55 เป็นอุตสาหกรรมประเภทเครื่องจักรแบบแม่นยำสูง เช่นการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักกลหนัก และงานด้านโลหะ นอกจากนี้เมืองคาวาซากิยังเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น และมีบุคลากรมืออาชีพด้านนี้กว่า 100,000 คน[4]
เมืองอุตสาหกรรมคาวาซากิได้รับการพัฒนาขึ้นในฐานะเป็นศูนย์กลางของพื้นที่อุตสาหกรรม Keihin (พื้นที่อุตสาหกรรมตามแนวโตเกียว-คาวาซากิ-โยโกฮามา) ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยพื้นที่ชั้นในจะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนพื้นที่ติดทะเลจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก น้ำมัน และเคมีภัณฑ์
ตัวอย่างบริษัทชื่อดังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมเมืองคาวาซากิได้แก่ NEC โตชิบา ฟูจิซึ ฮิตาชิ เดล อาอิโนะโมะโต๊ะ ซีออน อาซาฮี และ JFE Steel เป็นต้น
3. ปัญหามลพิษ
จากการบรรยายของเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองคาวาซากิพบว่า เมืองคาวาซากิเริ่มมีปัญหามลพิษอากาศในช่วง ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา ท้องฟ้าเหนือเมืองเต็มไปด้วยหมอกควันจนมองอะไรไม่เห็น ซึ่งในเวลานั้นหมอกควันที่กระจายทั่วฟ้านี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญของประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ในช่วงปี ค.ศ. 1975 มีปัญหาน้ำในแม่น้ำเน่าเสียเป็นฟอง เนื่องจากมีการทิ้งผงซักฟอกลงในแม่น้ำทามะจำนวนมาก หลังจากติดตั้งบ่อบำบัดน้ำเสียครบในช่วงปี ค.ศ. 2001 ค่าบีโอดีของน้ำในแม่น้ำทามะก็ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2 มิลลิกรัมต่อลิตร
สำหรับปัญหามลพิษอากาศที่เป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมเมืองคาวาซากิอธิบายถึงมลสารสำคัญคือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละออง โดยมีแหล่งกำเนิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและจากยานพาหนะ เนื่องจากในช่วงนั้นประเทศญี่ปุ่นมีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและน้ำมันดิบซึ่งมีซัลเฟอร์ผสมอยู่ในปริมาณสูง เมื่อเผาไหม้จึงปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมามาก
การแก้ไขปัญหามลพิษอากาศจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ของเมืองคาวาซากิที่สำคัญ ได้แก่
- - การเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง โดยลดการใช้ถ่านหินและน้ำมันลง หันมาส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งกำหนดองค์ประกอบของน้ำมันดิบที่นำเข้ามาให้ใช้ในประเทศให้มีปริมาณซัลเฟอร์ต่ำ เนื่องจากในเวลานั้นญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบจากอาราเบียซึ่งมีปริมาณไนโตรเจน ซัลเฟอร์ และแอสฟัลสูงเข้ามากลั่นในประเทศ
- - ลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศเสียที่ระบายออกจากแหล่งกำเนิด เช่นการติดตั้งเครื่องดักจับซัลเฟอร์
- - ความพยายามของโรงงานอุตสาหกรรมในการลดการระบายก๊าซมลพิษ โรงงานอุตสาหกรรมถูกผลักดันให้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานและกำจัดซัลเฟอร์และร่วมมือกันกำจัดก๊าซเรือนกระจก
การแก้ปัญหาก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่ามาจากยานพาหนะเป็นหลักนั้น มีมาตรการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ประเภทใช้ไฟฟ้า รถไฮบริด รวมทั้งเพิ่มการปลูกต้นไม้ข้างถนน
สำหรับฝุ่นละอองเจ้าหน้าที่บอกว่ามาจากยานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก
หลังจากดำเนินการมาตรการแก้ไขต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องความเข้มข้นของมลพิษอากาศลดลงดังนี้
มลพิษอากาศ | ปริมาณเริ่มต้น (ตัน/ปี) | ปริมาณ (ตัน/ปี) ในปี ค.ศ.2007 |
ไนโตรเจนไดออกไซด์ | 45,879 (ค.ศ. 1973) | 9,739 |
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ | 28,554 (ค.ศ. 1974) | 852 |
ฝุ่นละออง | 2,688 (ค.ศ. 1976) | 481 |
ปัจจุบันยังคงมีการดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับโลกร้อน และยังมีประเด็นที่หน่วยงานดูแลต้องดำเนินการเช่น ในเรื่องของการเฝ้าระวังและตรวจวัดฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) การจัดการแอสเบสทอส และการจัดการสารอันตราย เป็นต้น
4. การติดตามและตรวจวัดคุณภาพอากาศ
เทศบาลเมืองคาวาซากิมีระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่องตลอดเวลา ระบบประกอบด้วยสถานีตรวจวัด 41 สถานีตั้งอยู่ในเขตพักอาศัยและพาณิชย์ 16 สถานี อีก 25 สถานีตั้งอยู่ในเขตโรงงานอุตสาหกรรม ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดเหล่านี้จะถูกส่งมายังศูนย์กลางที่อาคารที่ทำการเทศบาลเมืองคาวาซากิ (รูปที่) ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดจากเขตที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมจะถูกส่งมายัง server คนละตัวกัน จากนั้นข้อมูลที่เข้ามาจะถูกประมวลผลและแสดงในคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์กลาง บางส่วนแสดงผลบนเว็บไซต์ ส่วนข้อมูลคุณภาพอากาศในแหล่งชุมชนจะแสดงผลบนป้ายแสดงผลอัตโนมัติขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารเทศบาลเมืองคาวาซากิ ส่วนข้อมูลจากสถานีในเขตอุตสาหกรรมนั้นจะมีหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบแยกออกจากส่วนของชุมชน ซึ่งในการบรรยายครั้งนี้ไม่มีตัวแทนจากหน่วยงานดังกล่าวเข้าร่วมด้วยทำให้ไม่ทราบรายละเอียด
สำหรับพารามิเตอร์ที่ทำการตรวจวัดอัตโนมัติได้แก่
- มีเทน CH4 | - ทิศทางลม Wind direction |
- ไฮโดรคาร์บอน ยกเว้นมีเทน NMHC | - ความเร็วลม Wind speed |
- ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ SO2 | - ความชื้น Humidity |
- ฝุ่นละออง SPM | - ปริมาณฝน Rain |
- ไนโตรเจนไดออกไซด์ NO2 | - แสงแดด Sun |
- ไนโตรเจนออกไซด์ NO | |
- ฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน PM 2.5 |
บรรยากาศในนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองคาวาซากิ
- เป็นที่น่าเสียดายว่าหน่วยงานจากเทศบาลที่ประชุม/บรรยายให้คณะเราฟังมีเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลสิ่งแวดล้อมในส่วนพื้นที่พาณิชย์และที่อยู่อาศัยเท่านั้น จึงทำให้ไม่ได้ข้อมูลสิ่งแวดล้อมในด้านของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งไม่มีหน่วยงานที่ดูแลในเรื่อง Eco-Town เข้ามาพูดคุยด้วยทำให้ไม่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Eco-Town เลย ซึ่ง Eco- Town กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในประเทศไทยในฐานะเป็นทางเลือกของการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
- - จากการสอบถาม ญี่ปุ่นมีกฎหมายชดเชยสุขภาพให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ในกรณีของคาวาซากิ มีผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดซึ่งได้รับการชดเชยจากโรงงาน โดยโรงงานจะต้องจ่ายตามสัดส่วนการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แล้วนำเงินนั้นมาชดเชยให้กับผู้ป่วย
- - จากการขับรถสำรวจภายในบริเวณกลุ่มโรงงานพบว่ามีกลิ่นเหม็นเป็นระยะ ๆ ดังนั้นเข้าใจว่าปัญหามลพิษน่าจะยังมีอยู่ แต่อาจไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน คาวาซากิใช้เวลากว่า 30 ปีในการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหามลพิษและนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 รัฐบาลญี่ปุ่นได้นำโครงการ Eco-Town มาส่งเสริมที่เมืองอุตสาหกรรมคาวาซากิ ถือเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาล่าสุดที่นำเข้ามาดำเนินการ
[2] The Message of Takao Abe Kawasaki City, Mayor http://www.city.kawasaki.jp/25/25koho/home/youran/youran2011/english/10shichomessage.html