วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ขี้เถ้าพลัดถิ่น

สวัสดีจ๊ะ ฉันชื่อพี เกิดที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ตอนที่ฉันอยู่ที่โตเกียวหนะเหรอ ..

ฉันเป็นกระดาษที่สวยมาก คนญี่ปุ่นใช้ฉันห่อกล่องของขวัญเวลาที่เขามอบของขวัญให้กัน ฉันทำให้พวกเขาประทับใจอย่างมาก แต่สิ่งที่เขาอยากเห็นมากกว่าคือของขวัญที่อยู่ข้างใน กระดาษห่อของขวัญอย่างฉันก็เลยถูกแกะออก แม้ว่าเขาจะค่อย ๆ แกะแล้ว แต่ฉันก็ยังถูกฉีกขาดอยู่ดี ฉันเลยได้ที่อยู่ใหม่เป็นถุงขยะใบน้อยในห้องนั่นเอง แล้วฉันก็กลายเป็นขยะตั้งแต่ตอนนั้นแหละ

---เป็นขยะแล้วไปไหน?---

ฉันอยู่ในถุงอย่างนั้นจนมาวันหนึ่ง เขาก็เอาถุงขยะที่ฉันอยู่มาวางที่ข้างถนนพร้อมกับถุงอื่น ๆ จากนั้นก็มีคนแต่งชุดสีน้ำเงินมาเก็บฉันขึ้นรถคันโต เขาตระเวนเก็บถุงแบบเดียวกับที่ใส่ฉันไปทั่วเมือง รถคันโตพาฉันไปที่แห่งหนึ่งเป็นอาคารที่มีลานกว้าง ๆ ฉันถูกเทออกจากรถลงไปกองอยู่บนลานนั้นเอง

ขยะกระดาษแบบฉัน เขาบอกว่าเป็นขยะแบบที่เผาได้ พวกที่เป็นเศษอาหารเขาก็เอาไปเผาเหมือนกัน ส่วนขยะพลาสติกทั้งหลายเขาไม่เอาไปเผา แต่เขาจะเอาไปฝังดินเลย

ดังนั้น ฉันเลยถูกส่งไปเข้าเตาเผา เขาเผาฉันด้วยไฟที่ร้อนมาก ๆ เขาเผาจนฉันกลายเป็นขี้เถ้าดำ ๆ

พวกขี้เถ้าดำ ๆ นี่เขาจะเอาไปปูอัดเป็นพื้นหลุมฝังกลบขยะ เพราะเขาบอกว่าพื้นมันจะได้แน่น ๆ บางส่วนก็เอาไปหลอมทำเป็นของใช้ เช่น พวกอิฐตัวหนอน แต่ก็มีบางส่วนที่ส่งออกมายังประเทศอื่น ๆ ก็อย่างฉันนี่ไง

---ฉันมีเพื่อนเยอะ---

โตเกียวมีขยะอย่างฉันเยอะมาก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศของฉันก็เร่งพัฒนาทุกสิ่งอย่างจนเกิดการผลิตอย่างมากมาย การกิน การใช้ อย่างล้นเกิน ดังนั้นจึงมีขยะที่ต้องกำจัดอย่างมหาศาลตามไปด้วย ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2523 ก็เริ่มคงที่ เนื่องจากมีปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง จากนั้นก็กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก ปริมาณขยะที่มากที่สุดอยู่ที่ 4.9 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณขยะในปี พ.ศ. 2532 พอถึงตรงนี้ พวกเราเริ่มถูกคุมกำเนิดอย่างจริงจัง จึงทำให้พวกเราเกิดน้อยลง ในปี พ.ศ. 2550 ผู้คนที่โตเกียวผลิตขยะจากการกินการใช้ของพวกเขาออกมารวมกันได้ประมาณ 3.2 แสนตัน ดูเหมือนการคุมกำเนิดจะได้ผลนะ


รูปที่ 1 ปริมาณขยะของโตเกียวในช่วงปี ค.ศ. 1945 - 2000ที่มา: http://www2.kankyo.metro.tokyo.jp/kouhou/env/eng_2006/chapter4_2.html

---ทำไมต้องคุมกำเนิดขยะ---

ที่โตเกียว ขยะจากบ้านเรือนจะถูกจัดการตามลักษณะของขยะเป็น 3 ส่วนคือ ขยะที่เผาไหม้ได้ ขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ และขยะที่รีไซเคิลได้ ขยะทั้ง 3 ประเภทจะต้องแยกกันทิ้งตามวิธีที่เมืองโตเกียวกำหนด ขยะรีไซเคิลจะส่งไปโรงงานรีไซเคิล ส่วนที่ต้องกำจัดจะเป็น 2 ส่วนแรก นอกจากขยะบ้านเรือนแล้ว ยังมีขยะจากอุตสาหกรรมบางส่วนด้วยนะ

ขยะที่เผาไหม้ได้ จะหมายถึงพวกขยะทั่วไปในบ้าน เช่น เศษอาหาร เศษกระดาษ ขยะพวกนี้จะถูกเก็บขึ้นรถแล้วนำไปเผาในเตาเผาขยะ การเผาจะทำให้เหลือเศษที่ต้องฝังน้อยลง เขาบอกว่าขยะ 100 กิโลกรัม เผาแล้วจะเหลือขี้เถ้าประมาณ 14 กิโลกรัม ขี้เถ้านี้จะถูกนำไปฝังกลบเป็นหลัก มีบางส่วนที่เอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น ส่วนขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ ได้แก่ พวกพลาสติกต่าง ๆ ขยะพวกนี้ ถ้าเป็นชิ้นใหญ่ ๆ เขาจะเอามาบดย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อยขนขึ้นรถไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบ

สุดท้ายจะไปรวมกันที่หลุมฝังกลบ

หลุมฝังกลบขยะของโตเกียวจะอยู่แถวอ่าวโตเกียว เขาจะเอาขยะไปถมในทะเลสร้างผืนแผ่นดินขึ้นมาใหม่ ถึงปัจจุบันโตเกียวมีหลุมฝังขยะทั้งหมด 7 แห่ง (ดูรูปที่ 2 ประกอบ) เป็นหลุมที่ฝังขยะจนเต็มไปแล้ว 5 แห่ง หลุมฝังกลบหลุมแรกนี่เต็มไปตั้งแต่ 44 ปีที่แล้ว ราว ๆ ปี พ.ศ. 2508 ฝังขยะไปทั้งหมด 3.7 แสนตัน ถัดมาอีก 2-3 ปี หลุมฝังกลบที่ 2 ก็เต็ม หลุมนี้ใหญ่กว่าหลุมแรกรับขยะไปประมาณ 10.3 แสนตัน ประมาณปี พ.ศ. 2520 หลุมที่ 3 ก็เต็มอีก หลุมนี้ยิ่งใหญ่กว่าหลุมที่ 2 อีก เพราะรับขยะไปทั้งหมด 18.4 แสนตัน หลุมที่ 3 นี่เริ่มยื่นออกไปในทะเลมากขึ้น พอหลุมที่ 4 อยู่เกือบกลางอ่าวแล้ว หลุมนี้รับขยะได้ 12.3 ล้านตันและก็เต็มไปเมื่อปี พ.ศ. 2530 สำหรับหลุมฝังกลบที่ 5 เป็นส่วนที่ต่อเนื่องจากส่วนที่ 4 ยื่นออกไปในทะเล ส่วนนี้ยังไม่เต็ม จนถึงปี 2549 ฝังขยะไปแล้ว 52.7 ล้านตัน เมืองโตเกียวมีแผนขยายพื้นที่ฝังกลบออกไปในทะเลอีกเป็นหลุมฝังกลบขยะที่ 7 ซึ่งยื่นต่อออกไปจากหลุมฝังกลบที่ 5 หลุมที่ 7 นี้เริ่มฝังกลบขยะประมาณปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันฝังขยะไปแล้วกว่า 4 แสนตัน หลุมฝังกลบที่ 7 นี้มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดคือ 3,190,000 ตารางเมตร หลุมฝังกลบอีกหลุมหนึ่งคือหลุมที่ 6 นั้นสามารถรับขยะได้ประมาณ 1.7 แสนตัน และเต็มไปประมาณปี พ.ศ. 2536 สรุปก็คือตอนนี้ขยะที่โตเกียวจะมาฝังกลบที่หลุมที่ 5 และหลุมที่ 7 ซึ่งเป็นหลุมฝังกลบขยะแห่งสุดท้ายในบริเวณอ่าวโตเกียวนี้



รูปที่ 2 ที่ตั้งหลุมฝังกลบขยะของโตเกียวทั้ง 7 แห่ง
ที่มา: Tokyo Metropolitan Government Landfill Site: Outer Central Breakwater Landfill Site – New Sea Surface Disposal Site

โตเกียวมีที่ดินไม่มากนัก เพราะญี่ปุ่นเป็นเกาะ ทำให้มีที่ฝังกลบขยะจำกัดไปด้วย พวกเขาจึงต้องหาทางที่จะทำให้หลุมฝังกลบที่มีอยู่ใช้งานได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ได้ยินว่าสำหรับหลุมฝังกลบแห่งสุดท้ายนี้พวกเขาอยากจะใช้ต่อไปให้ได้อีก 50 ปี ด้วยเหตุนี้แหละ พวกเขาถึงต้องคุมกำเนิดขยะที่จะเข้าไปที่หลุมฝังกลบ


รูปที่ 3 เจ้าหน้าที่กำลังฝังกลบขยะ ส่วนหนึ่งในพื้นที่หลุมฝังกลบที่ 5


รูปที่ 4 ปล่องระบายก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นข้างในหลุทฝังกลบ ปกติก๊าซมีเทนจะถูกเก็บไปใช้ แต่ที่หลุ่ม 5 นี้ก๊าซที่ออกมาไม่เหมาะกับการนำไปใช้ เลยต้องปล่อยทิ้งไปเฉย ๆ


รูปที่ 5 เจ้าหน้าที่ฝังกลบขี้เถ้ารองพื้นหลุมส่วนหนึ่งในบริเวณหลุมฝังกลบที่ 7

---สวนป่ากลางทะเล---

ใช่ หลังจากฝังขยะจนเต็มแล้ว พวกเขาตั้งใจจะทำเป็นสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสถานที่พักผ่อนให้กับชาวโตเกียว เขาจะเอาดินมาคลุมด้านบนหลุมฝังกลบแล้วปลูกต้นไม้ หลุมที่กำลังปรับปรุงพื้นที่และเริ่มปลูกต้นไม้ไปบ้างแล้วคือหลุมฝังกลบที่ 4 รูปที่ 6 คือสภาพปัจจุบันถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2009 ส่วนรูปที่ 7 คือภาพสวนป่ากลางทะเลที่เขาตั้งใจทำให้เกิดขึ้นภายใน 30 ปี



รูปที่ 6 ภาพปัจจุบันของสวนสาธารณะกลางทะเล เริ่มมีการปลูกต้นไม้น้อยใหญ่

รูปที่ 7 ภาพร่างสวนสาธารณะกลางทะเลที่เสร็จสมบูรณ์

---รีไซเคิลกันเถอะ---

กลับมาที่เรื่องคุมกำเนิดขยะอีกที เพื่อให้มีขยะที่ต้องฝังกลบ พวกเขาได้ผลักดันให้ชาวโตเกียวรีไซเคิลขยะให้มากขึ้น มีการออกกฎหมายให้รีไซเคิลนู้นนี่หลายฉบับเชียวแหละ เช่น กฎหมายรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ในบ้านเรือน กฎหมายรีไซเคิลเศษอาหาร กฎหมายรีไซเคิลซากรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานแล้ว เป็นต้น ขยะรีไซเคิลจะต้องมีการคัดแยก จัดเก็บ และส่งไปจัดการแยกออกไปต่างหาก อย่างไรก็ตามการรีไซเคิลอาจชะลอการเกิดขยะได้ ที่สำคัญวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลมักจะด้อยคุณภาพกว่าตอนเริ่มต้น ดังนั้นจึงใช้ทำของแบบเดิมไม่ได้ ต้องใช้ทำของที่ด้อยกว่าลงไป พวกของรีไซเคิลพวกนี้จะวนเวียนใช้ไปมาและสุดท้ายก็จะกลายเป็นขยะอยู่ดี และอีกเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าที่จะทำให้เกิดการรีไซเคิลอย่างกว้างขวางได้คือเรื่อง เงิน ๆ ทอง ๆ เพราะการสร้างโรงงานรีไซเคิลต้องใช้เงินลงทุน การประกอบการต้องใช้คนงาน และของที่รีไซเคิลออกมาก็ต้องขายได้ด้วย ถึงจะคุ้มค่ากับการลงทุน เขาว่าการลงทุนโรงงานรีไซเคิลที่ญี่ปุ่นไม่คุ้มนะ ตัวอย่างเช่น การรีไซเคิลพลาสติกเพทที่ใช้ทำขวดน้ำใส ๆ เขาว่าถ้าเก็บรวบรวมแล้วส่งเข้าโรงงานรีไซเคิลในญี่ปุ่น แล้วผลิตออกมาเป็นขวดใหม่หรือเป็นสินค้าใหม่ เช่น เสื้อผ้า มันจะไม่คุ้ม เพราะสินค้าที่ผลิตได้จะมีราคาแพงมาก เนื่องจากต้นทุนสูง พอราคาแพงคนก็ไม่ซื้อ รีไซเคิลติดหล่มซะแล้ว อย่างนี้จะทำยังไงกันดีละ?

พวกเขาเลยต้องคิดต่อให้ครบวงจร และคำตอบที่พวกเขาได้คือ การทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของวัสดุเหล่านี้ไปยังที่ที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างคุ้มค่าเงินลงทุน

---ยุทธศาสตร์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน---

กลางปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นชอบ “ยุทธศาสตร์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน” ซึ่งมีเรื่องการสร้างวงจรการใช้วัสดุที่ยั่งยืนผ่านการลดการผลิต การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะ ให้เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเริ่มต้นที่ภูมิภาคเอเชียก่อน วัตถุประสงค์ของเรื่องนี้ประกอบด้วย ส่งเสริมให้เกิดการลดการผลิต การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะในประเทศต่าง ๆ ลดอุปสรรคขัดขวางการเคลื่อนย้ายวัสดุระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือในหมู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และประสานความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา และเพื่อให้เกิดผลตามที่ตั้งไว้ ได้มีการกำหนดแผนการทำงานไว้ 3 ด้านดังนี้ ด้านที่ 1 การสร้างความตระหนักในเรื่องการไม่ทำให้เกิดขยะในประเทศญี่ปุ่นและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ด้านที่ 2 การสนับสนุนให้เกิดสังคมหรือชุมชนที่ไม่ผลิตขยะในประเทศกำลังพัฒนา และด้านที่ 3 คือการสร้างความตระหนักในเรื่องการไม่ทำให้เกิดขยะในระดับสากล

กิจกรรมที่ญี่ปุ่นเข้ามาสนับสนุนหรือส่งเสริมในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น การช่วยจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเรื่องการลดการผลิต การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะ ในประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ การเจรจาเกี่ยวกับนโยบายเรื่องนี้กับประเทศเกาหลีและจีน (ดูรูปที่ 8 ประกอบ)



รูปที่ 8 กิจกรรมส่งเสริมการสร้างวงจรการใช้วัสดุที่ยั่งยืนผ่านการลดการผลิต การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลขยะ ของญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศเอเชีย
ที่มา: Hidetoshi Kimura, 2007. Implementation of the 3Rs, Presentation document, presented on Senior Officials Meeting on the 3Rs Initiative, 4 October 2007

---ภาพในฝัน---

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่นวางภาพสังคมเอเชียที่ยังยืนบนพื้นฐานการลด การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล ว่าจะเป็นสังคมที่มีความตระหนักต่อปัญหาขยะร่วมกัน อันจะเป็นแรงขับดันให้เกิดกระแสรีไซเคิลขยะและมีการเคลื่อนย้ายหรือค้าขายขยะระหว่างกันได้อย่างคล่องตัวขึ้น ตามกลไกตลาด สำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอาจมีเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ล้าหลัง ญี่ปุ่นพร้อมจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจรีไซเคิล เพื่อเป็นการสนับสนุนด้านเทคโนโยลีให้กับประเทศเหล่านี้ (รูปที่ 9)



รูปที่ 9 แนวคิดการสร้างสังคมเอเชียที่ยั่งยืนของสภาอุตสาหกรรมแห่งกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น
ที่มา: International management of recyclable resources in Asian region, Presentation document by Aya Yshida, Toshiya Aramaki and Keisuke Hanaki of Department of Urban Engineering, University of Tokyo.

แน่นอนว่าเมื่อสภาพสังคมที่มีการหมุนเวียนขยะจากที่หนึ่ง ไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลอีกที่หนึ่ง แล้วส่งสินค้าไปขายอีกที่หนึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแล้ว ขยะที่โตเกียวที่จะตรงไปที่หลุมฝังกลบแห่งสุดท้ายกลาง
อ่าวโตเกียวคงจะน้อยลงไปมากที่เดียว

ทีนี้ เธอก็รู้แล้วใช่ไหมว่า ทำไมขี้เถ้าจากเมืองญี่ปุ่นอย่างฉันถึงมาที่เมืองไทยได้

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บอกบุญซื้อจีวร



วันนี้ได้รับข่าวบอกบุญซื้อจีวรให้พระเณร วัดฟ้าเวียงอินทร์ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เป็นวัดที่ติด กับชายแดน ไทย –พม่า เลยขอบอกต่อค่ะ

วัดฟ้าเวียงอินทร์ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เป็นวัดที่ติด กับชายแดน ไทย –พม่า เป็นวัดที่มีพระเณร ซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา หรือเด็กกำพร้า และเด็กที่หนีภัยสงครามในรัฐฉาน ภายใต้การนำของรัฐบาลเผด็จการของพม่า เด็กเหล่านี้อพยพเข้ามาอาศัยในวัดแห่งนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะว่าไม่มีผู้อุปการะ หรือ พ่อ แม่ ที่จะส่งพวกเขาเข้าศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลได้ และอีกส่วนหนึ่ง พ่อ แม่ ญาติพี่ น้องของพวกเขาเหล่าเป็นคนที่หาเช้ากินค่ำ จึงยากที่จะส่งบุตร หลานของพวกเขาเข้าเรียนได้ ดังนั้นทางวัดจึงจำเป็นต้องเปิดการเรียนการสอนให้เด็กดังกล่าวให้มีพื้นฐานการศึกษาที่จะเอาตัวรอดและเข้ากับสังคมปัจจุบันได้ ซึ่งแต่ละปีมีพระเณรเข้ามาอยู่ที่วัดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันมีพระ-เณร จำนวน 70 กว่ารูป และแน่นอนความเป็นอยู่ของก็มีความลำบากมากขึ้นเพราะทางวัดยังขาดแคลนปัจจัยหลายๆอย่าง แต่ที่สิ่งสำที่สุดที่ทางวัดจำเป็นก็คือ เครื่องนุ่งห่ม และในช่วงฤดูฝนนั้น ยิ่งแย่มากขึ้นเพราะถ้าพวกเขาขาดเครื่องนุ่งห่มที่จะทำให้ร่างกายของพวกเขาอบอุ่น และแน่นอนโรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมา ซึ่งจะทำให้พวกเขาขาดช่วงในการศึกษาดังนั้นทางวัดจึงขออนุเคราะห์ จากท่านผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคปัจจัยเครื่องนุ่งห่ม

ท่านใดสนใจจะช่วยเหลือ ได้ที่ ครูโอ วัดฟ้าเวียงอินทร์ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เบอร์โทร. 085-7052202 หรือทาง หมี่เบอ ละครชุมชน “กับไฟ” 03/1 ถ.ราชพฤกษ์ ต. ช้างเผือก อ.เมือง จ. เชียงใหม่ เบอร์โทร. 086-1850968

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย มีปัญหาเพราะการมีส่วนร่วมไม่มากพอ



การโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552 ที่ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชสมุนไพร 13 ชนิด ที่สามารถใช้ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 รวมทั้งการยกเลิกการควบคุมซัลเฟอร์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่าการออกกฎหมายตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีขั้นตอนกระบวนการที่ยังตามไม่ทันกับบริบทสังคมปัจจุบันที่ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายอย่างกว้างขวางเพียงพอนั่นเอง
ความเป็นมาในกรณีพืชสมุนไพรนั้น กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบได้ชี้แจงว่าที่ออกประกาศรายการนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเป็นการลดการใช้สารเคมีได้ทางหนึ่ง แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 2 ซึ่งผู้ที่จะผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครองต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งดำเนินการ ทำให้ผู้ที่จะผลิตประสบปัญหายุ่งยากในขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เพราะไม่มีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการขึ้นทะเบียน ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงช่วยเหลือด้วยการลดการควบคุมลงมาเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 แทน โดยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 มีมาตรการควบคุมเพียงแจ้งข้อเท็จจริงเท่านั้น และที่เลือกพืช 13 ชนิดนี้ก็เพราะกรมวิชาการเกษตรมีการศึกษาทางวิชาการรองรับแล้ว และที่ไม่ยกเลิกการควบคุมไปเลย เพราะต้องการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีผลิตภัณฑ์ปลอมออกมาขายจำนวนมาก จึงยังต้องคุมต่อไปเพื่อดูแลเรื่องคุณภาพ สำหรับข้อกังวลของสังคมที่เกิดขึ้นนั้น กรมวิชาการเกษตรมองว่าเป็นเรื่องของภาษาและการสื่อสารทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน การใช้คำว่าวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นคำตามกฎหมายทำให้ดูน่ากลัว ดูว่าพืชสมุนไพรเหล่านั้นเป็นของอันตราย และจะทำการทบทวนในเรื่องถ้อยคำและการสื่อสารและการรับฟังความคิดเห็นต่อไป
ส่วนกรณียกเลิกการควบคุมซัลเฟอร์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งมีประเด็นว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีลักลอบนำเข้าซัลเฟอร์ที่สำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกรมศุลกากรกำลังดำเนินคดีหรือไม่ เพราะเป็นคดีใหญ่ มีค่าปรับเป็นเงินจำนวนหลายพันล้านบาท กรอ. ชี้แจงแต่เพียงว่าปกติสารซัลเฟอร์จะถูกควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น เมื่อครั้งจะออกประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2549 กรมวิชาการเกษตรได้เสนอให้ กรอ. คุมซัลเฟอร์ด้วย เนื่องจากพบว่ามีการลักลอบนำเข้าซัลเฟอร์มาใช้เป็นสารป้องกันเชื้อรา โดยอ้างว่านำมาใช้ทางอุตสาหกรรม จึงได้มีการประกาศให้ซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คุมโดย กรอ. ในประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2549 ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 กรอ. ได้ขอยกเลิกการควบคุมสารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย โดยให้เหตุผลว่าซัลเฟอร์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมเป็นคนละสถานะกันกับซัลเฟอร์ที่ใช้ในทางเกษตร และซัลเฟอร์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมมีกฎหมายโรงงานและประกาศกระทรวงมหาดไทยควบคุมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงการยกเลิกการควบคุมซัลเฟอร์ในประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2552 ดังกล่าว
ด้านคดีความนั้น สภาอุตสาหกรรมชี้แจงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมนำเข้าซัลเฟอร์อย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่ประกาศฉบับที่ 5 มีผลบังคับใช้ โดยได้ผ่านขั้นตอนตามพิธีการศุลกากรอย่างที่เคยปฎิบัติ จนเมื่อเดือนกันยายน 2551 จึงมีการตรวจค้นและกล่าวหาว่าผู้ประกอบการนำเข้าสินค้ามาอย่างผิดกฏหมายและมีโทษปรับสูงสุด 4 เท่าของมูลค่าสินค้า คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณหมื่นล้านบาท

มีปัญหาเพราะการมีส่วนร่วมไม่มากพอ
จากความเป็นมาข้างต้นจะเห็นว่าส่วนหนึ่งและน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาคือ การมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไม่เพียงพอ ในกรณีของพืชสมุนไพรเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการละเลยการมีส่วนร่วมของสาธารณะ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพร ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยอย่างมาก หากเปิดให้สาธารณะรับรู้เรื่องราวมาตั้งแต่ต้นกรณีความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องถ้อยคำ “วัตถุอันตราย” น่าจะน้อยลงเพราะได้มีการถกเถียงทำความเข้าใจร่วมกันมาก่อนหน้าแล้ว และอาจมีข้อเสนอแนะทางเลือกอื่นที่น่าสนใจ เช่น
o น่าจะใช้ชื่อ “ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ได้จากพืช 13 ชนิดดังนี้ สะเดา......ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี” แทนคำที่ประกาศคือ “ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำมาใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย......” การเน้นที่คำว่าผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช... มาก่อนสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงความเป็นอันตรายได้ง่ายกว่า
o ในอดีตควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ยังพบผลิตภัณฑ์ปลอมด้อยคุณภาพ ถ้าผ่อนคลายการควบคุมจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร การขึ้นทะเบียนเป็นขึ้นตอนเพื่อประเมินว่าผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพการใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่และการใช้มีความปลอดภัยหรือไม่ การขึ้นทะเบียนจึงจำเป็นในสถานการณ์การควบคุมในปัจจุบันของประเทศเรา อย่างไรก็ดี หน่วยงานรับผิดชอบสามารถออกประกาศให้ใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของกรมวิชาการเกษตรแทนได้ เพื่อทำให้การขึ้นทะเบียนง่ายขึ้น และในกรณีผลิตภัณฑ์มีปัญหาจะมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดได้หนักกว่ากรณีเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1
o ไม่ว่าในกรณีเกษตรกรที่ผลิตใช้และขายจำนวนไม่มากควรต้องกำหนดหลักเกณฑ์ยกเว้นไว้ เช่น
o ถ้ากำหนดให้ “ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำมาใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย......” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ก็ต้องยกเลิกรายการเดิมที่ประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ด้วย แล้วประกาศเป็นวัตถุอันตรายกลับเข้ามาใหม่โดยตัดเอาผลิตภัณฑ์จากพืช 13 ชนิดนี้ออก ไม่อย่างนั้นจะเป็นว่าผลิตภัณฑ์จากพืช 13 ชนิดนี้จะถูกคุมเป็นวัตถุอันตรายทั้งชนิดที่ 2 และ 1 ในเวลาเดียวกัน แล้วจะทำอย่างไรดี

ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังไม่มีส่วนร่วม
กรณียกเลิกซัลเฟอร์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นผลเสียของการไม่เปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงได้แสดงความคิดเห็นก่อนตัดสินใจออกประกาศ กล่าวคือ หากก่อนจะประกาศให้ซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ในประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 5 กรอ. มีการเชิญผู้เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทที่ใช้ซัลเฟอร์ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมาให้ความเห็นก่อน เหตุผลในเรื่องสถานะของซัลเฟอร์ที่แตกต่างกันสำหรับการใช้งานทางอุตสาหกรรมและทางเกษตรก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาตั้งแต่ต้น และการประกาศครั้งนั้นก็จะไม่สร้างปัญหาจนต้องมีการยกเลิกการควบคุมในภายหลัง
นอกจากประเด็นการไม่เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการไม่ประเมินผลกระทบและลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ กรอ. ควรรู้ว่าซัลเฟอร์เป็นสารเคมีพื้นฐานที่มีการใช้อย่างกว้างขว้างในวงการอุตสาหกรรม ดังนั้นเมื่อประกาศฯ ออกมาแล้ว กรอ. จึงควรเผยแพร่ข้อมูลไปยังผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงเพียงพอซึ่งเป็นสิ่งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมสามารถกระทำได้เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับผู้ประกอบการ และให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวปฏิบัติตามข้อบังคับได้ทันท่วงที
ปัจจุบันการกำหนดนโยบายหรือกฎหมายจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเพียงพอและโปร่งใส เพื่อให้นโยบายหรือกฎหมายนั้นผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้าน ตัวอย่างเช่นในประชาคมยุโรป หรือ EU นั้น ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในเรื่องการจัดการสารเคมีอย่างมาก ซึ่งเห็นได้จากการกำหนดเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะไว้ในกฎหมายควบคุมสารเคมีด้วย เช่น ในกรณีสารที่ต้องขออนุญาตและจำกัดการใช้ที่หน่วยงานกลางต้องประกาศรายชื่อออกมานั้น มีข้อกำหนดให้เปิดเผยร่างเพื่อระดมความเห็นจากสาธารณะก่อนที่จะประกาศบังคบใช้ ขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นเช่นนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายอาจนำมาเป็นแนวทางสำหรับประกาศฯ บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายได้ทันที เพราะแม้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายจะไม่กำหนดในเรื่องการมีส่วนร่วมไว้ แต่ก็มิได้ห้ามไว้เช่นกัน การมีส่วนร่วมนอกจากจะทำให้บัญชีวัตถุอันตรายที่จะประกาศได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ยังเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานรับผิดชอบอีกด้วย

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

สายเกินไปไหม? จดหมายที่ยาวที่สุดที่ฉันเคยเขียน


สายเกินไปไหม?
จดหมายที่ยาวที่สุดที่ฉันเคยเขียน

นี่เป็นชื่อหนังสือที่ขอแนะนำค่ะ คนเขียนเป็นแม่บ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งในญี่ปุ่นชื่อ แทโกะ กันชา เธอเขียนเล่าความกังวลและความห่วงใยที่มีต่อการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เพื่อน ๆ ของเธอได้รับทราบ จดหมายฉบับนี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษมาก่อนแล้ว สำหรับฉบับภาษาไทยได้รับการแปลโดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ และจัดพิมพ์โดยกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม หลังสือเล่มนี้ถูกแจกจ่ายไปตามห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ลองอ่านเนื้อหาบางส่วนจากจดหมายขนาดยาวเล่มนี้ค่ะ


ทำไมโลกเราทุกวันนี้น่าเศร้าจัง

ในอดีต มีหรือที่แม่จะใส่ยาพิษในอาหารทุกมื้อที่ปรุงสำหรับครอบครัว เป็นไปได้หรือที่แม่จะใส่ยาพิษลงไปในอาหาร ยาพิษซึ่งจะเป็นอันตรายในระยะยาวและค่อย ๆ บั่นทอนสุขภาพของครอบครัว แต่นี่เป็นสิ่งที่แม่ๆ กำลังทำโดยไม่ตระหนักถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้น

นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรมเชอร์โนบิล (Chernobyl) แม่ ไม่มีทางเลือกที่จะทำอะไรได้ นอกจากพยายามเลือกสรรอาหารซึ่งมีสารพิษน้อยที่สุด การจัดเตรียมอาหารที่น่าจะเป็นเรื่องของความรื่นรมย์และความสุขกลับกลายเป็น งานอันน่าเบื่อและทำให้แม่รู้สึกผิด แต่เราก็ต้องกินอาหารเพื่อให้มีชีวิตต่อไป ไม่ใช่เรื่องน่าตลกแกมเศร้าหรอกหรือที่แม่ถูกบังคับให้ปรุงอาหารซึ่งจะบั่น ทอนชีวิตของคนในครอบครัวตนเอง

ใครจะนึกว่าวันหนึ่งเราต้องมากินอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารสังเคราะห์และสาร กัมมันตรังสีอันตราย เรารู้ดีว่าภายหลังเกิดโศกนาฏกรรมที่เชอร์โนบิล แม่ซึ่งอยู่ในสหภาพโซเวียตและยุโรปต่างเศร้าเสียใจมากเพียงใด และทุกวันนี้พวกเราแม่ๆ ชาวญี่ปุ่นต้องตกอยู่ในความเศร้าเช่นเดียวกันนั้น ผลกระทบที่สำคัญจากอุบัติเหตุดังกล่าวเริ่มปรากฏขึ้นที่นี่แล้ว

ในระหว่างที่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์เชอร์โนบิล สารกัมมันตรังสีจำนวนมากหลายพันล้านคูรีแพร่กระจายออกไป สารกัมมันตรังสีลอยตามกระแสลมเป็นระยะทาง 8,000 กิโลเมตรจนถึงญี่ปุ่น ส่งผลให้สาหร่ายทะเล ทุ่งหญ้า น้ำนม และสิ่งอื่นๆ ในญี่ปุ่นปนเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสี แม่ซึ่งทราบว่าน้ำนมของเธอปนเปื้อนเอาแต่ร้องไห้ด้วยความขมขื่น เพราะที่ผ่านมาเธอเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองมาตลอด เธอทราบดีว่าน้ำนมของเธอปนเปื้อนด้วยสารกัมมันตรังสี และลูกของเธอน่าจะได้รับผลกระทบ

สารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ตามข้อมูลที่สำรวจในแม่น้ำโคลัมเบียในรัฐวอชิงตันและโอเรกอน สหรัฐฯ สมมติว่ามีสารกัมมันตรังสีในน้ำ 1 หน่วย ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 หน่วยเมื่อแพร่เข้าไปในแพลงตอน 15,000 หน่วยเมื่อแพร่เข้าไปในปลา 40,000 หน่วยเมื่อเป็ดกินปลาตัวนั้นเข้าไป และเมื่อแม่เป็ดวางไข่ จำนวนสารกัมมันตรังสีจะเพิ่มขึ้นถึงล้านเท่า และถ้าคนเรากินไข่เหล่านั้นเข้าไป มันจะเพิ่มจำนวนอีกเท่าไร มันจะมากมายมหาศาลเพียงใด?

เมื่อร่างกายย่อยสลายอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี สารเหล่านั้นจะแพร่กระจายเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายและแพร่รังสีออกมาพร้อมๆ กับทำลายเซลล์ในร่างกาย

ไอโอดีน 131 สะสมในต่อมไทรอยด์และกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนของต่อม ไอโอดีน 131 มีอายุครึ่งชีวิตแปดวัน (อายุครึ่งชีวิตหมายถึงช่วงเวลาที่สารกัมมันตรังสีลดทอนจำนวนลงไปครึ่งหนึ่ง ตามธรรมชาติ สารแต่ละชนิดจะมีอายุครึ่งชีวิตต่างกัน สำหรับไอโอดีนจะมีอายุครึ่งชีวิตแปดวัน หมายถึงว่าเมื่อผ่านไปแปดวันจะมีจำนวนลดลงครึ่งหนึ่ง อีก 16 วันก็จะลดลงไปอีกครึ่งหนึ่ง หรือเหลือเพียงหนึ่งในสี่ของสารจำนวนเดิม สารกัมมันตรังสีจะลดจำนวนครึ่งหนึ่งไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยหมดโดยสิ้นเชิง)

พลูโตเนียม 239 สะสมในปอดและเป็นสาเหตุของมะเร็งปอด มันมีอายุครึ่งชีวิตถึง 24,000 ปีทีเดียว! ในช่วงเวลาดังกล่าวสารจะปล่อยกัมมันตรังสีออกมาเรื่อยๆ

สตรอนเทียม 90 สะสมในกระดูกและเป็นสาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว อายุครึ่งชีวิตของมันคือ 28 ปี

โคบอลต์ 60 สะสมในตับและเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ มีอายุครึ่งชีวิต 5 ปี

ซีเซียม 137 สะสมในอวัยวะสืบพันธุ์และเป็นสาเหตุของการเป็นหมันและความผิดปกติด้าน ฮอร์โมน อาจส่งผลให้ทารกคลอดออกมาด้วยอาการพิการอย่างรุนแรง ซีเซียม 137 มีอายุครึ่งชีวิต 30 ปี พอๆ กับอายุในวัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง

เมื่อแปดปีก่อนได้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนเกาะทรีไมล์ (Three Mile Island) และในวันที่ 27 มีนาคมปีนี้ คุณแมรี่ ออสบอน ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะแห่งนี้ 9 กิโลเมตร เดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อเล่าเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น เธอก็เป็นคุณแม่ลูกสอง

เธอบอกว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบนั้นหลายคนต้องประสบกับปัญหาความผิดปกติด้าน สุขภาพ มีรายงานผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเพิ่มขึ้น ถึงขั้นที่ว่ามีผู้เสียชีวิตในครอบครัวเดียวกันถึงหกคน คุณออสบอนและคนอื่นๆ ซึ่ง แม้จะไม่ใช่นักเคลื่อนไหวหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ต่างเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผิดปกติ และพยายามสอบสวนหาสาเหตุด้วยตนเอง

การสอบสวนทำให้ทราบว่า สาเหตุมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พวกเขาส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลแห่งรัฐเพื่อขอให้มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการ แต่ความพยายามไม่ได้ผล รัฐบาลปฏิเสธข้อมูลที่พวกเขารวบรวม โดยบอกว่าเป็นข้อมูลซึ่งไม่สามารถเชื่อถือได้ในทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาประกาศว่าสุขภาพของประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ อย่างมากก็มีแค่ความเครียดในใจ

ลอง คิดดูสิว่าฉันตกใจแค่ไหนที่เกิดเรื่องแบบนี้ในประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐ อเมริกา มันจะเป็นยังไงนะถ้าหากเกิดเรื่องแบบเดียวกันนี้ในประเทศญี่ปุ่น

........... ... ... . . .

ใครสนใจลองไปหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วไปหรือติดต่อซื้อที่ cainthai@gmail.com ค่ะ


ของเสียอันตรายจากบ้านเรือน... อันตรายถ้าจัดการไม่ถูกวิธี


เวลาที่ผลิตภัณฑ์ตามบ้านเรือนที่มีความเป็นอันตรายถูกใช้จนหมดแล้วหรือไม่ ใช้แล้วจะกลายเป็นของเสียอันตรายและถูกทิ้งรวมไปพร้อมกับขยะทั่วไป การกำจัดแบบขยะทั่วไปไม่สามารถใช้กำจัดของเสียอันตรายได้ การจัดการที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

อันตรายถ้ากำจัดไม่ถูกวิธี

ปกติการจัดการขยะทั่วๆ ไปจากบ้านเรือนมีขั้นตอนคือ เมื่อเจ้าของขยะนำขยะมาทิ้งในภาชนะรองรับที่หน่วยงานรับผิดชอบ เช่น เทศบาล หรือ อบต. จัดไว้ให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะมาเก็บขยะใส่รถไปยังสถานีรวมหรือสถานที่กำจัด ซึ่งมักเป็นหลุมฝังกลบขยะ หลุมฝังกลบขยะทั่วไปได้รับการออกแบบให้ฝังกลบขยะทั่วไปได้อย่างปลอดภัยเท่า นั้น

ถ้ามีขยะหรือของเสียอันตรายถูกทิ้งรวมไปกับของเสียทั่วไป อาจเกิดอันตรายหรือปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในระหว่างขั้นตอนการเก็บขนและ การกำจัด เช่น ถ้ามีหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ถูกทิ้งรวมไปด้วย หลอดไฟอาจแตกหักระหว่างขนถ่ายเข้า-ออกจากรถขนขยะ หรือขณะฝังกลบ ปรอทที่เจือปนอยู่สามารถแพร่กระจายเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากหลุ่มฝังกลบขยะทั่วไปไม่สามารถป้องกันการซึมผ่านของสารได้ จากนั้นปรอทจะถูกย่อยสลายกลายเป็นสารพิษ (ปรอทอินทรีย์) สารพิษนี้เมื่อเข้าสู่สิ่งมีชีวิตจะสามารถเพิ่มปริมาณสะสมขึ้นได้อย่างมาก เมื่อมีการกินต่อ ๆ กันตามห่วงโซ่อาหาร ซึ่งจะมาสิ้นสุดที่คนที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การได้รับปรอทอินทรีย์อาจทำให้มีอาการคันหรือชา ประสาทสัมผัสทำงานผิดปกติ สั่น เดินลำบาก ถ้าได้รับเป็นเวลายาวนานสามารถก่อให้เกิดโรคมินามาตะได้

ถ้าเททิ้งลงท่อทางอ่างน้ำหรือชักโครก ของเสียอันตรายจะไหลไปยังถังบำบัดน้ำเสียของบ้าน ของเสียบางชนิดสามารถฆ่าจุลินทรีที่ทำหน้าที่ย่อยปฏิกูลและน้ำเสีย ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียทำงานไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ของเสียอันตรายบางชนิดไม่ถูกย่อยสลายที่ถังบำบัดและจะปนเปื้อนไป กับน้ำทิ้งที่ออกจากถังบำบัดเข้าสู่แหล่งรองรับธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะปนเปื้อนลงสู่ระบบน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ การเทผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนลงท่อจะทำให้ท่อผุกร่อนได้

การกำจัดของเสียอันตรายจากบ้านเรือนโดยการกองเผาเป็นสาเหตุของมลพิษอากาศ ควันไฟที่เกิดขึ้นอาจเป็นควันพิษ โดยเฉพาะการเผาพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจระเบิดได้ เช่นกระป๋องสเปรย์ ขี้เถ้าที่เหลืออยู่ก็ปนเปื้อนด้วยสารพิษเช่นกัน

แนวทางการจัดการ

การจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนนั้นมีแนวทางสำหรับประชาชนซึ่งเกี่ยว ข้องในฐานะผู้ก่อกำเนิด และหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนดังนี้

สำหรับประชาชน :

- ซื้อผลิตภัณฑ์อันตรายมาใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

- ซื้อแค่พอดีใช้

- มองหาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์แบบเดียวกันแต่มีอันตรายน้อยกว่ามาใช้แทน

- ก่อนใช้ต้องอ่านฉลากให้เข้าและปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก

- ต้องเก็บไว้ให้ห่างจากเด็ก

- ควรดูแลให้ฉลากอยู่ในสภาพใช้งานได้ ไม่หลุดหรือขูดขาดจนอ่านไม่ได้

- ควรเก็บผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นของเสียแล้วไว้ในภาชนะบรรจุเดิมและปิดฝาให้แน่น

- แยกของเสียอันตรายที่รีไซเคิลได้

- เก็บไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่มารวบรวมจากที่พักอาศัย

- ไม่แบ่งผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีใส่ภาชนะอื่นโดยเฉพาะภาชนะสำหรับใส่อาหารและน้ำดื่ม

- ไม่นำภาชนะบรรจุสารกำจัดแมลงหรือสารเคมีอื่นๆ มาใช้อีก

- ไม่ผสมของเสียอันตรายหลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกัน

- ไม่กองเผาหรือเททิ้งของเสียอันตรายลงพื้นดิน

- ไม่เททิ้งของเสียอันตรายลงอ่างน้ำหรือชักโครก

สำหรับหน่วยงานท้องถิ่น (ได้รับอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535) :

- สร้างศักยภาพด้านการรีไซเคิลและกำจัดของเสียอันตรายจากบ้านเรือนของท้องถิ่น ถ้าในท้องถิ่นไม่มีโรงงานรีไซเคิลหรือสถานที่กำจัด หน่วยงานรับรับผิดชอบต้องหาแนวทางสร้างเครือข่ายหรือเป็นตัวกลางเชื่อมโยง ระหว่างประชาชนและโรงงานรีไซเคิล รวมทั้งติดต่อสถานที่กำจัดที่อยู่ในวิสัยที่สามารถส่งของเสียอันตรายไป จัดการได้ เพื่อให้ของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นได้รับการจัดการอย่างถูกต้องปลอดภัยมาก ที่สุด

- ชี้แจงให้ประชาชนทราบทั่วกันถึงขั้นตอนและวิธีการคักแยก จัดเก็บ และการส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือกำจัดทิ้ง ของเสียอันตรายชนิดใดที่สามารถรีไซเคิลได้ ของเสียชนิดนั้นก็ควรถูกแยกออกมาและส่งไปรีไซเคิล ของเสียอันตรายที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะต้องแยกและส่งไปกำจัดด้วยวิธีการ ที่ปลอดภัย เช่น ไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบของเสียอันตราย เป็นต้น

- วางแผนและจัดให้มีการดำเนินงานจัดเก็บของเสียอันตรายจากบ้านเรือนโดยเฉพาะ ตามที่ได้แจ้งประชาชนไว้ โดยหน่วยงานรับผิดชอบเป็นผู้จัดเก็บเองหรือให้อนุญาตโรงงานรีไซเคิลมาจัด เก็บเองก็ได้ในกรณีของเสียอันตรายที่สามารถรีไซเคิลได้

- จัดสรรงบประมาณ บุคคลากร พร้อมทั้งส่งเสริมให้การจัดการของเสียอันตรายจากบ้านเรือนอย่างถูกต้องให้ เกิดความยั่งยืน โดยพิจารณาใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งภาคบังคับและสมัครใจที่เหมาะสม

- เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงพิษภัยต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง :

A.L. Choi and P. Granjean, Environ. Chem. 2008, 5, 112-120. (http://www.publish.csiro.au/?act=view_file&file_id=EN08014.pdf)

Disposal of Hazardous Household Waste (www.cdc.gov/docs/d001201-d001300/d001236/d001236.html)

LA County DPW Household Hazardous Waste Guide (http://dpw.lacounty.gov/epd/hhw/)

Ohio State University Fact Sheet, Disposal of Household Hazardous Materials (http://ohioonline.osu.edu/cd-fact/0102.html)

คู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อปท. ในการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน (http://infofile.pcd.go.th/haz/Guideline_communitywaste.pdf)

รู้จักของใช้อันตรายในบ้าน

บทความนี้เผยแพร่ที่นี่และที่เว็บไซต์ http://www.chemtrack.org ด้วยค่ะ >..<

ที่บ้าน... เรามีของใช้มากมายหลากหลายชนิดเพื่อช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสะดวก สบาย ในของใช้เหล่านี้จะมีจำนวนมากที่มีสารเคมี การมีสารเคมีเจือปนอยู่ด้วยทำให้เราต้องระวัง เพราะจะเกี่ยวข้องกับความเป็นอันตรายที่สารเคมีนั้นพาติดตัวมาด้วย ความเป็นอันตรายที่มักพบได้แก่

• เป็นพิษ ทั้งที่ปรากฎอาการทันทีและที่อาการปรากฎเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษได้แก่ ยาฆ่าแมลง ทินเนอร์ น้ำยาทำความสะอาดบางชนิด

• ไวไฟ ลุกติดไฟได้ง่าย ตัวอย่างเช่น สี ทินเนอร์ หรือตัวละลายอื่น ๆ

• กัดกร่อน สามารถกัดวัสดุต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาดเตาอบ ผลิตภัณฑ์ขจัดสิ่งอุดตันในท่อ น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ แบบเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น

• เกิดปฏิกริยาได้ง่าย เช่นสามารถลุกไหม้ได้เอง หรือเกิดไอหรือควันพิษได้เมื่อผสมกับผลิตภัณฑ์อื่น หรือระเบิดได้เมื่อถูกความร้อนหรือถูกกระแทก ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ได้แก่ พลุ ดอกไม้ไฟ

จะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์อันตรายหรือไม่

• อ่านฉลากที่ติดกับภาชนะบรรจุ และมองหาคำว่า คำเตือน อันตราย เป็นพิษ ซึ่งมักจะข้อความระบุการปฏิบัติหรือวิธีการใช้ที่ถูกต้อง หรือข้อความเตือน นอกจากนี้ ยังสามารถมองหารูปสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นอันตราย ตัวอย่างข้อความและรูปที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอันตรายมีดังนี้

ข้อความ / รูป

ความเป็นอันตราย

"Harmful or fatal if swallowed" อันตรายถ้ากลืนกิน

เป็นพิษ

"Use only in a well-ventilated area" ใช้ในที่อากาศถ่ายเทเพียงพอ

เป็นพิษ

"Do not use near heat or flame" ห้ามใช้ใกล้แหล่งความร้อนหรือเปลวไฟ

ไวไฟ

"Combustible" ลุกไหม้ได้

ไวไฟ

"Do not smoke while using this product" ห้ามสูบบุหรี่ขณะใช้ผลิตภัณฑ์นี้

ไวไฟ

"Causes severe burns on contact" เกิดแผลไหม้อย่างรุนแรง

กัดกร่อน

"Can burn eyes, skin, throat" สามารถไหม้ดวงตา ผิวหนัง คอ

กัดกร่อน

"Wear gloves" ใส่ถุงมือ

กัดกร่อน

เป็นพิษ

ไวไฟ

กัดกร่อน

• ดูชนิดผลิตภัณฑ์อันตรายที่ใช้ตามบ้านเรือนจากรายการข้างล่างนี้

ผลิตภัณฑ์

สารอันตรายที่อาจผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์

อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

เครื่องปรับอากาศ

สารซีเอฟซี (คลอโรฟลูออโรคาร์บอน)

เตาอบไมโครเวฟ และอื่น ๆ


ตู้เย็น ตู้แช่

สารทำความเย็น

หลอดฟลูออเรสเซนต์

สารปรอท

ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์

แบตเตอรี่รถยนต์ ตะกั่ว
น้ำมันเบรค ไกลคอล, ไกลคอลอีเทอร์
น้ำยาทำความสะอาดคาร์บูเรเตอร์ ไฮโดรคาร์บอนที่มีคลอรีน
น้ำยากำจัดไขมัน ไฮโดรคาร์บอนที่มีคลอรีน
เครื่องดับเพลิง ชนิดผง – โซเดียมไบคาร์บอเนต, แอมโมเนียมฟอสเฟต และโปตัสเซียมไบคาร์บอเนต
ชนิดฮาลอน - โบรโมไดฟลูออกโรมีเทน
น้ำมันเชื้อเพลิง ไฮโดรคาร์บอน
น้ำมันเครื่อง ปิโตรเลียม
แบตเตอรี่
ถ่านนาฬิกา กล้อง เครื่องคิดเลข (ก้อนเล็กแบน สีเงิน) ลิเทียม
ถ่านชนิดอัลคาไลน์ โปตัสเซียมไฮดรอกไซด์, สังกะสี
ถ่านชาร์จ เช่นชนิด นิกเกิล-แคดเมียม, นิกเกิล โลหะไฮไดรด์, ลิเทียมไอออน นิกเกิล, แคดเมียม
ชนิดตะกั่วขนาดเล็ก ตะกั่ว
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
คอมพิวเตอร์ จอภาพ - ตะกั่ว
โทรทัศน์ จอภาพ - ตะกั่ว, ปรอท
กาวและซีเมนต์
ซีเมนต์ยึดเกาะ คีโตน, แนฟทา
อีพ๊อกซี เรซินของอีพ๊อกซี่และเอมีน
กาวเอนกประสงค์ โทลูอีน, สไตรีน, อะซีโตน
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ คลอรีน, แอมโมเนีย, ตัวทำละลายอินทรีย์, สารแต่งกลิ่น
แอมโมเนีย แอมโมเนีย
น้ำยาฆ่าเชื้อ ไฮโปคลอไรต์, ฟีโนลิก, แอลกอฮอล์, ควอเทอร์นารี แอมโมเนียม คลอไรด์
น้ำายาฟอกขาวที่มีคลอรีน ไฮโปคลอไรต์
ผลิตภัณฑ์ขจัดท่ออุดตัน โซเดียมไฮดรอกไซด์
น้ำยาทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ ปิโตรเลียม
น้ำยาทำความสะอาดโลหะ ปิโตรเลียม, แอมโมเนีย
น้ำยาทำความสะอาดเตาอบ โซเดียมไฮดรอกไซด์
น้ำยาขจัดสนิม กรดแก่
น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ กรด, สารฆ่าเชื้อ, ไฮโปคลอไรต์
ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงและสัตว์
ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก / มด ไดคลอวอส, คลอไพรีฟอส, โพรพ๊อกซัว, ไดอะซีนอน
ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ไดคลอวอส, ไพรีทริน
ผลิตภัณฑ์กำจัดเหา เห็บ หมัด ลินเดน
ลูกเหม็น พารา-ไดคลอโรเบนซีน, แนฟทาลีน
ยาเบื่อหนู วาฟารีน, สตริกนิน
ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช
น้ำยาฆ่าเชื้อรา แคปเทน, ไตรฟอรีน
ผลิตภัณฑ์ฆ่าหญ้า/วัชพืช 2,4-ดี, อะทราซีน, ไดคลอบีนิล
น้ำยาถนอมเนื้อไม้

ไตรบิวทิลติน, เพนตาคลอโรฟีนอล, ทองแดง, สังกะสี

สีและตัวทำละลาย
สีที่มีตะกั่ว ตะกั่ว
สีน้ำมัน เรซิน, น้ำมันแร่
สีสเปรย์ ตัวทำละลาย, โพรเพน, ซีเอฟซี
น้ำยาลอกสี เมทิลลีนคลอไรด์, โซเดียมไฮดรอกไซด์ ,โทลูอีน, อะซีโตน, เมทานอล
ทินเนอร์ เทอร์เพนทีน, น้ำมันแร่
แล็กเกอร์ เทอร์เพนทีน, แอลกอฮอล์
ผลิตภัณฑ์ส่วนตัว
สีย้อมผม แคดเมียมคลอไรด์, โคบอล์ตคลอไรด์, คิวปิกคลอไรด์, เลดอะซีเตต, ซิลเวอร์ไนเตรท
สเปรย์จัดแต่งทรงผม อะซีโตน
ยา
ยาทาเล็บ อะซีโตน
น้ำยาล้างเล็บ อะซีโตน, เอทิลอะซีเตต
อื่น ๆ
เทอร์โมมิเตอร์ชนิดใช้ปรอท สารปรอท

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะต้องมีฉลากที่ประกอบด้วยคำแนะนำวิธีการใช้ที่ปลอดภัยและ มีประสิทธิภาพการเก็บรักษาที่ถูกต้อง และการกำจัดที่เหมาะสมปลอดภัย หากผู้ใช้ไม่ทำตามคำแนะนำดังกล่าวก็อาจเกิดอันตรายขึ้นได้ทั้งต่อสุขภาพ อนามัยคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงควรอ่านฉลากให้เข้าก่อนและปฏิบัติตามคำแนะนำที่กำหนดไว้

เอกสารอ้างอิง :

Local Hazardous Waste Management Program in King County (http://www.govlink.org/hazwaste/house/index.cfm)

Ohio State University Fact Sheet, Disposal of Household Hazardous Materials (http://ohioonline.osu.edu/cd-fact/0102.html)


รูปประกอบแสดงสัญลักษณ์ ความเป็นพิษ และอันตรายจากการกัดกร่อน

ข้อความแสดงวิธีใช้ ส่วนประกอบที่สำคัญ และคำเตือน

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การกำจัดผลิตภัณฑ์ปนสารปรอทด้วยการเผาอันตรายกว่าที่คิด



4 กุมภาพันธ์ 2552: กรุงเทพฯ - งานศึกษาวิจัยครั้งใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่สู่สาธารณะในหลายประเทศยืนยันว่า การเผาผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทเป็นส่วนผสมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในแต่ละปีมีสารปรอทปนเปื้อนสู่บรรยากาศสูงกว่า 200 ตัน ในจำนวนนี้เกิดจากกิจกรรมของคนถึงร้อยละ 10 งานศึกษาชิ้นนี้มีชื่อว่า “สารปรอทสูงขึ้น: ลดการเผาผลิตภัณฑ์ปนสารปรอทในทั่วโลก” ซึ่งเผยแพร่ออกสู่สาธารณะพร้อมกันจากองค์กรพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม,[i] ในหลายประเทศ การรณรงค์ผ่านงานศึกษาวิจัยครั้งนี้ต้องการชี้ให้คนตระหนักถึงภยันตรายจากสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่มีส่วนผสมของสารปรอท แต่ที่ผ่านมาคนไม่เข้าใจถึงอันตรายร้ายแรงของสารปรอทในบรรยากาศและไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นัก
“เราเห็นว่าการศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญคือ ช่วยทำให้เราตระหนักกันให้มากขึ้นว่า การเผาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอทอันตรายกว่าที่เราคิดหรือรู้ ๆ กันมา” ไมเคิล เบนเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการนโยบายปรอทกล่าว “งานศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่าการเผาของเสียหรือผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำให้สารปรอทกระจายสู่สิ่งแวดล้อมของโลกมากกว่าที่เราเคยคิดกันถึงสองเท่า”
งานศึกษาดังกล่าวมีการติดตามดูกิจกรรมการเผาหลัก ๆ หลายพื้นที่ด้วยกัน คือการเผาขยะหรือของเสียทางการแพทย์ การเผาของเสียอันตรายและของเสียจากเทศบาล การเผาตะกอนน้ำเสียจากเทศบาลต่าง ๆ และการลุกไหม้ของขยะตามหลุมฝังกลบขยะและการเผาในที่แจ้งหลายแห่งด้วยกัน
“รายงานฉบับนี้เน้นถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการเผาสิ่งเหล่านี้ทั้งในเตาเผาหรือการเผาไหม้ทั่วไป เราควรต้องยอมรับกันแล้วว่าการเผาไหม้ผลิตภัณฑ์หรือของเสียจากครัวเรือนที่มีส่วนผสมของสารปรอทอยู่นั้นไม่ว่าจะเป็นในเตาเผาขยะ ในหลุมฝังกลบใหญ่ๆ หรือการเผาในที่แจ้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สารปรอทและสารพิษอื่น ๆ ปนเปื้อนสู่ระบบนิเวศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกด้วย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานจากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมกล่าว
รายงานการศึกษานี้ชี้ถึงสถานการณ์ระดับโลกว่า แหล่งหลัก ๆ ที่เป็นตัวการทำให้สารปรอทกระจายอยู่ในอากาศทั่วไปคือ มาจากการกำจัดของเสียพวกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอทด้วยการเผา เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมการจัดการของเสียจากโรงงาน ตามลำดับต่อไปนี้
· การเผาของเสียอันตรายและของเสียจากเทศบาล (ร้อยละ 41 ของที่ปล่อยสู่อากาศทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเผาของเสียพวกผลิตภัณฑ์ที่มีปรอทปน)
· การลุกไหม้ตามหลุมฝังกลบต่าง ๆ และการเผาของเสียพวกผลิตภัณฑ์ที่มีปรอทปนในที่แจ้ง (ร้อยละ 45 ของทั้งหมด)
· การเผาของเสียจากสถานพยาบาล (ร้อยละ 11 ของทั้งหมด)
· การเผาตะกอนน้ำเสียจากเทศบาล (ร้อยละ 3 ของทั้งหมด)

มีการศึกษาคล้าย ๆ กันที่เคยประเมินการปนเปื้อนของสารปรอทในอากาศที่มาจากการเผาพวกของเสียและผลิตภัณฑ์ที่มีปรอทเป็นส่วนผสม แต่ว่าการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ตามดูรายละเอียดของสารปรอทในสิ่งแวดล้อมที่มาจากการเผาตามหลุมฝังกลบและการเผาขยะครัวเรือนในที่แจ้ง
“เราอยากเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ หาทางยับยั้งการกำจัดของเสียเหล่านี้ด้วยการเผาโดยด่วน รวมถึงการเผาปรอททิ้ง และเปลี่ยนมาช่วยกันหาวิธีการจัดเก็บสารพิษชนิดนี้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืนกว่า” วลัยพร มุขสุวรรณ เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสากรรมกล่าว
ผลการศึกษานี้เผยให้เห็นความรุนแรงของสารปรอทที่กระจายอยู่ในอากาศของแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และเอเชียใต้ในระดับที่น้อยกว่าเล็กน้อย) ที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะครัวเรือนตามหลุมฝังกลบและตามที่โล่งแจ้ง และมีการตั้งข้อสังเกตที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการเผาในที่โล่งแจ้งอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในแถบชนบท ที่เป็นแหล่งรวมพวกผลิตภัณฑ์ปนสารปรอทจำนวนมหึมาและอัตราการแปรรูปของเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่น้อยมาก
รายงานฉบับนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการเผาของเสียเทศบาลอย่างถูกหลักการก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในกลุ่มประเทศเอเชียส่วนใหญ่ การสร้างของเสียปริมาณมาก ๆ การใช้และกำจัดผลิตภัณฑ์ปนสารปรอทที่ค่อนข้างสูง และการเผาโดยเตาเผาที่ทำเป็นหลักในญี่ปุ่นล้วนเป็นสิ่งที่บอกเล่าได้ว่าทำไมการปนเปื้อนสารปรอทในอากาศของภูมิภาคนี้จึงรุนแรง
ผลการศึกษานี้มีข้อเสนอแนะว่า ในการประชุมที่องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ที่ไนโรบี ต้องผลักดันให้มีการตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการเจรจาระหว่างประเทศ” ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อผลักดันให้มีการเจรจาเรื่องการสร้าง “กลไกอิสระทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมสารปรอท”
สำหรับช่วงรอยต่อก่อนที่จะมีกลไกเฉพาะที่ว่านี้ ทางองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติก็ควรมีมาตรการดังนี้
· รับหน้าที่ที่จะต้องสนับสนุนกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างกลไกทางกฎหมาย ความรู้ทางเทคนิค การวิเคราะห์ และการสร้างจิตสำนึกต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนผสมของสารปรอท และประเทศต่าง ๆ ที่มีโรงงานเหล่านี้ดำเนินการอยู่ ยอมรับและปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้
· เห็นพ้องว่า การเผาไหม้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทในเตาเผาต่าง ๆ การลุกไหม้จากหลุมฝังกลบ และการเผาของเสียจากครัวเรือนในที่โล่งแจ้ง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สารปรอทและสารพิษอื่น ๆ ปนเปื้อนสู่ระบบนิเวศในระดับท้องถิ่นและระดับโลก และกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการห้ามไม่ให้มีการเผาของเสียเหล่านี้ และหาวิธีการจัดเก็บสารพิษชนิดนี้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืนกว่า


บุคคลติดต่อ :

1. Michael Bender, Mercury Policy Project, telephone # +01 802-223-9000, e-mail: mercurypolic@aol.com
2. วลัยพร มุขสุวรรณ, กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม email: cainthai@gmail.com

ติดต่อ: รายงานการศึกษาเรื่อง “Mercury Rising: Reducing Global Emissions from Burning Mercury-Added Products” ได้จาก websites: http://www.mercurypolicy.org/, www.zeromercury.org


หมายเหตุ

Notes:
1. ปรอทและองค์ประกอบอืน ๆ มีอันตรายต่อมนุษย์มาก โดยเฉพาะต่อระบบประสาทที่เกี่ยวกับการพัฒนา และยังมีอันตรายกับระบบนิเวศและประชากรสัตว์ป่าต่าง ๆ ด้วย
2. แหล่งกำเนิดของปรอทในธรรมชาติ เช่น จากการปะทุของภูเขาไฟ การระเหยจากผิวหน้าของดินและน้ำ รวมถึงผ่านการเสื่อมสลายของการเผาป่าและแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนสารปรอทจากแหล่งน้ำและดินในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการย่อยสลายของปรอทที่มาจากทั้งแหล่งธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์
3. ปรอทเป็นธาตุที่ปะปนอยู่ในถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่สุดของโลกที่ทำให้อากาศปนเปื้อนสารปรอท


[i] This report is authored by the Mercury Policy Project: see http://www.mercurypolicy.org/, and is co-released by the following:
The Zero Mercury Working group is an international coalition of more than 40 public interest non-governmental organizations from around the world formed in 2005 by the European Environmental Bureau and the Mercury Policy Project/Ban Mercury Working Group. The aim of the group is to continually reduce emissions, demand and supply of mercury, from all sources we can control, with the goal of eliminating mercury in the environment at EU level and globally. Please see http://www.zeromercury.org/
Global Alliance for Incinerator Alternatives / Global Anti-Incinerator Alliance (GAIA) is a worldwide alliance of more than 600 grassroots groups, non-governmental organizations, and individuals in over 80 countries whose ultimate vision is a just, toxic-free world without incineration. GAIA work against incinerators and for safe, sustainable and just alternatives. Further information may be found at http://www.no-burn.org/
Ban Toxics! is an independent non-profit Asian regional environmental non-governmental organization that is focused on empowering local communities on the issue of toxics in order to reform national and regional toxics policy, making it more responsive and respectful to the needs of people and the environment. Ban Toxics! is an active member of Zero Mercury Working Group (ZMWG) and is the Asia-Pacific node of the Basel Action Network. Please see http://www.bantoxics.multiply.com/